วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การลุกขึ้นสู้ของกลุ่มสหภาพแรงงานตะวันออก จากปัญหาเร่งด่วนสู่รัฐสวัสดิการ

สันติ ธรรมประชา

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากศูนย์กลางทุนนิยมอเมริกาได้ลุกลามไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย มีการคาดการณ์กันว่าอีกไม่นานจะมีคนตกงานหนึ่งล้านห้าแสนคน เนื่องจากโรงงานปิดกิจการ

ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ผู้ขึ้นครองอำนาจที่มีกองทัพหนุนหลัง หรือ ระบอบอำมาตยาธิปไตย มักจะมีความคิดความเชื่อในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามระบบราชการ หรือให้ปลัดกรมกองต่างๆ ชี้แนะก็ ได้เสนอทางแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โดยให้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 2000 บาท แต่ละเลยผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้ประกันตน ผู้ใช้แรงงานนอกระบบและคนยากจนส่วนอื่นๆที่ไม่มีประกันตนนับเกือบ 30 ล้านคน จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ได้ช่วยเหลือคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง และเงินคนละ 2000 บาทก็น้อยนิดมากสำหรับผู้ใช้แรงงานที่มีประกันตนที่ได้รับ

สำหรับนโยบายที่จะเก็บภาษีที่ก้าวหน้า ก็เป็นเพียงสำนวนโวหารสร้างภาพเท่านั้น มิได้มุ่งมั่นจะกระทำจริง แต่กลับมีมาตรการที่จะเก็บภาษีเหล้าบุหรี่เพิ่มขึ้นอีก เพราะเนื่องมาจากถ้าเก็บภาษีก้าวหน้าจริง พวกเขาส่วนหนึ่งคงต้องถูกเก็บภาษีด้วย จึงขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนเอง


การลุกขึ้นสู้ของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน
คำกล่าวที่ว่า “ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้” มักเป็นจริงเสมอสำหรับประชาชนผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบที่ได้รวมกลุ่มกันแสวงหาข้อมูลความรู้หาเพื่อนมิตร เพื่อสร้างพลังอำนาจในการต่อรองกับรัฐและทุน
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นปัจจุบัน สื่อกระแสหลัก(ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ) และนักวิชาการฝ่ายทุน มักอ้างความชอบธรรมเพื่อให้รัฐช่วยเหลือนายทุน ต้องการเสนอให้ผู้ใช้แรงงานเห็นใจนายทุน ซึ่งไม่ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานและการฉวยโอกาสของนายทุนในการกดขี่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานแต่อย่างใดเลย

อย่างไรก็ตาม ชนชั้นผู้ใช้แรงงานแถบตะวันออก หลายโรงงานได้ลุกขึ้นสู้เพื่อทวงถามความเป็นธรรมและเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา โดยพวกเขามีหลักการและเหตุผลที่สำคัญอาทิเช่น

*เพื่อป้องกันการฉกฉวยโอกาสจากนายจ้างโดยอาศัยสถานการวิกฤติเศรษฐกิจลดต้นทุนการผลิตโดยที่ไม่ได้รับผลกระทบและไม่คำนึงถึงหลักจริยธรรม โดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นของแต่ละพื้นที่ และเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในสถานประกอบการว่าได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ เพียงใด เพื่อการหาทางออกร่วมกันในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและให้ผู้แทนลูกจ้าง มีส่วนร่วมในการเสนอแนะทางออกและเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในกระบวนการแก้ปัญหาตามหลักอารยะประเทศ

ดังนั้น ห้ามไม่ให้นายจ้างประกาศใช้มาตรา ๗๕ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ฉบับที่ ๒ ตามอำเภอใจ ในกรณีที่นายจ้างต้องการใช้ มาตรา ๗๕ ให้นายจ้างทำเป็นหนังสือขออนุญาตไปยังคณะกรรมการของแต่ละพื้นที่พิจารณาเป็นคราวๆ ไปโดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นมาตรวจสอบในแต่ละพื้นที่ โดยมีตัวแทนจาก รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง และนักวิชาการ เข้ามาตรวจ ว่าเห็นควรต้องใช้มาตรา ๗๕ หรือไม่

*เพื่อป้องกันการฉกฉวยโอกาสจากนายจ้างโดยอาศัยสถานการวิกฤติเศรษฐกิจลดต้นทุนการผลิตโดยที่ไม่ได้รับผลกระทบและไม่คำนึงถึงหลักจริยธรรม โดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นของแต่ละพื้นที่ และเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในสถานประกอบการว่าได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ เพียงใด เพื่อการหาทางออกร่วมกันในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและสภาวะการว่างงานขนาดใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง ทั้งต่อแรงงานในปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้หุ้นส่วนทางสังคม (Social Partner) ทุกกลุ่ม: สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน ลูกจ้างฝ่ายผลิต ลูกจ้างฝ่ายสำนักงาน ลูกจ้างชั่วคราวภาครัฐและเอกชน พนักงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงทุกภาคส่วน คนงานนอกระบบ คนงานข้ามชาติ และชุมชน มีส่วนร่วมในการเสนอแนะทางออกและเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในกระบวนการแก้ปัญหาตามหลักอารยะประเทศ

ดังนั้น เมื่อมีการเลิกจ้างพนักงานเกิดขึ้นโดยอ้างว่าบริษัทประสบภาวะวิกฤติ ในกรณีที่นายจ้างต้องมีการเลิกจ้างจริงให้นายจ้างทำเป็นหนังสือขออนุญาตไปยังคณะกรรมการของแต่ละพื้นที่พิจารณาเป็นคราวๆ ไปโดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นมาตรวจสอบในแต่ละพื้นที่ โดยมีตัวแทนจาก รัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง และนักวิชาการ เข้ามาตรวจ สอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้างหรือไม่ ถ้าไม่เป็นจริงให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข และถ้านายจ้างประสบปัญหาจริงรัฐต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับสิทธิตามกฎหมายที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับ

*เนื่องจากผู้ประกันตนทุกคนต่างก็ถูกหักเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน จึงควรได้รับสิทธิ์ประโยชน์กรณีว่างงานในสัดส่วนที่เท่ากัน และปัญหาที่ผ่านมาลูกจ้างมักถูกข่มขู่ให้ลาออก เพื่อที่นายจ้างหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย และสำนักงานประกันสังคมก็ปฏิเสธการรับผิดชอบในการจ่ายเงินทดแทน และขบวนการในการพิสูตรสิทธิ์ตามขั้นตอนระหว่างการอุธรท์ล่าช้าทำให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิ์ได้ยาก

ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ๕๐% ทุกกรณีโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นเวลาหนึ่งปี

*รัฐบาลต้องส่งเสริมมาตรการสนับสนุนสถานประกอบการที่บรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นลูกจ้างประจำ เพื่อสนับสนุนแนวคิดเรื่องการจ้างงานที่ดี (Decent Work) และความรับผิดชอบทางสังคมของภาคธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) ตามหลักมาตรฐานแรงงานสากล เนื่องจากแรงงานไทยถูกเอาเปรียบจากนายจ้างประเภทกิจการเหมาค่าแรงโดยการละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานทุกรูปแบบ ทำให้บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ดังนั้น รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมาย เรื่อง “การจ้างงานในระบบเหมาค่าแรง” เนื่องจากทำให้ผู้ใช้แรงงานขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ


จากปัญหาเร่งด่วนสู่รัฐสวัสดิการ
นอกจากข้อเรียกร้องปัญหาเร่งด่วนแล้ว ชนชั้นผู้ใช้แรงงานสหภาพตะวันออก ยังได้เสนอข้อเรียกร้องต่ออนาคตคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ยังไร้หลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการ เหมือนเช่นในหลายประเทศทั่วโลกที่เกิดขึ้น

รัฐสวัสดิการจึงเป็นระบบทางสังคมที่รัฐให้หลักประกันแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น หลักประกันด้านสุขภาพ ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการป้องกันและรักษาโรคฟรี หลักประกันด้านการศึกษา ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาตามความสามารถโดยได้รับทุนการศึกษาฟรีจนทำงานได้ตามความสามารถในการเรียน หลักประกันด้านการว่างงาน รัฐต้องช่วยให้ทุกคนได้งานทำ ใครยังหางานไม่ได้รัฐต้องให้เงินเดือนขั้นต่ำไปพลางก่อน หลักประกันด้านชราภาพ รัฐให้หลักประกันด้านบำนาญสำหรับผู้สูงอายุทุกคน หลักประกันด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน เป็นต้น

ดังนั้น รัฐต้องมีการการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยผู้ที่ผู้มีรายได้มากต้องจ่ายมากส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยต้องจ่ายน้อย เพิ่มการเก็บภาษีทางตรงกับคนรวยทุกคน เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน เพื่อเป็นรายได้ของประเทศในการจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนผู้ยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

กล่าวได้ว่า การเรียกร้องของพวกเขา จึงเป็นไปเพื่อการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมให้กับสังคม เป็นการรองรับสิทธิและหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานจาก “ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน” ให้กับผู้ใช้แรงงานและประชุมทุกกลุ่มสาขาอาชีพ

ดังนั้น การลุกขึ้นสู้ของพวกเขา จึงมิใช่เพียงแต่ผลประโยชน์ของพวกเขาเท่านั้น แต่เพื่อคนส่วนใหญ่ที่ไร้หลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานจำนวนนับหลายสิบล้านในสังคมไทย





ที่มา : ประชาไท วันที่ : 23/2/2552

บทสัมภาษณ์ : คุยเรื่อง ‘รัฐสวัสดิการ 101’ กับ ‘จอน อึ๊งภากรณ์’

ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปการเมือง (ที่ยังไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่) หลายแนวคิดถูกเสนอขึ้นเพื่อหวังประคับประคองปากท้องของประชาชนคนเดินดิน เตะฝุ่น ให้สามารถยืนอยู่ได้แม้กระแสทุนนิยมจะเชี่ยวกราก ‘ประชาไท’ ไปคุยกับ ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ รักษาการ ส.ว. กทม. เพื่อทำความรู้จักกับ ‘รัฐสวัสดิการ’ ให้มากขึ้น



อยากให้อาจารย์ให้คำจำกัดความของรัฐสวัสดิการ

ผมไม่ใช่นักวิชาการ จึงไม่รู้คำจำกัดความที่เป็นทางการ แต่เข้าใจว่า หมายถึงรัฐที่ให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบความอยู่ดีกินดีของประชาชนทุกคนในลักษณะที่มีความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนแข่งขันกันเอง ใครได้ดีก็ได้ดีไป ใครตกทุกข์ได้ยากก็ตกทุกข์ไป แต่เป็นรัฐที่ดูแลเรื่องสิทธิของประชาชนในการอยู่ดีกินดี มองเรื่องของสวัสดิการสังคม เป็นสิทธิไม่ใช่เป็นรางวัล ความเมตตา แต่เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน



มันมีนัยยะ 3 เรื่อง คือเป็นรัฐที่ดูแลให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เป็นสิทธิของทุกคนที่จะได้รับการดูแลในสิ่งเหล่านั้นจากรัฐ และสาม มันมีลักษณะของความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณจะรวยจะจนจะมีสถานะทางสังคมอย่างไร แต่สิทธิในการศึกษา การดูแลรักษาสุขภาพเท่ากัน การมีงานทำ บำเหน็จบำนาญเท่ากัน



เหมือนกับข้อเขียน ‘คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไหม

ไม่ได้ต่างกัน เพียงแต่คุณพ่อคิดเรื่องรัฐสวัสดิการในยุคของคุณพ่อ ซึ่งตอนนี้อาจจะไปไกลกว่านั้น เช่น ผมจำได้ว่า คุณพ่อจะพูดถึงการดูแลสุขภาพจะเน้นคนจน แต่รัฐสวัสดิการจริงๆ จะไม่แบ่งแยกระหว่างคนจนคนรวย ไม่ใช่มีนเทสต์ โดยคอนเซ็ปท์เดิมของรัฐสวัสดิการจะไม่ต้องพิสูจน์ว่าตัวเองจนจึงจะได้รับ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องวัดว่าคนจริงรึเปล่าเราถึงจะให้คุณ เพราะฉะนั้น 30 บาทรักษาทุกโรคน่ะ ถ้าไม่มี ‘30 บาท’ จะเป็นรัฐสวัสดิการเลยแหละ คือทุกคนสิทธิเท่ากันหมด แต่สมัยก่อนที่มีโครงการช่วยเหลือคนจนนั้นเป็นรูปแบบที่ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ คือรัฐสวัสดิการมีคอนเซ็ปท์ว่า ทุกคนต้องเท่าเทียมกันหมด



ทีนี้สิ่งที่คุณพ่อพูด โดยทั่วไปเป็นคอนเซ็ปท์เรื่องรัฐสวัสดิการ แต่ในเรื่องสุขภาพเท่าที่ผมจำได้ เท่าที่ดูของคุณพ่อเขียน สมัยนั้นอาจมีความคิดว่าประเทศไทยไม่มีโอกาสจะจัดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คุณพ่อเพียงแต่คิดว่าต้องช่วยคนยากจนคนจนให้เขารักษาฟรีมากกว่า แต่ก็ยังเป็นคอนเซ็ปท์รัฐสวัสดิการอยู่

ถ้าถามว่าคิดต่างกันไหม ต้องบอกว่าต่าง เพราะคิดกันในคนละยุค ตอนนั้นคุณพ่อมีความคิดที่ก้าวหน้ามากสำหรับยุคสมัยนั้น แต่ของผมบางอย่างจะคิดต่างจากคุณพ่อ คือจะไปไกลกว่าคุณพ่อในบางเรื่อง เพราะสภาพสังคม เศรษฐกิจไม่เหมือนกัน คือยุคนี้มันเป็นยุคที่อุตสาหกรรมกับการบริการในเชิงเศรษฐกิจมีความสำคัญกว่าเกษตรกรรมด้วยซ้ำไป เรื่องรัฐสวัสดิการจึงยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น



เป็นนโยบายแห่งรัฐคล้ายกับเป็นการปกครองระบอบหนึ่งเลยใช่ไหม

ผมคิดว่ามันเป็นปรัชญาเกี่ยวกับบทบาทของรัฐ เป็นปรัชญาความเชื่อเรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐแบบหนึ่ง ที่เชื่อว่า รัฐมีภารกิจต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน ต้องให้หลักประกันทางสังคมกับประชาชนทุกคนว่ามีมาตรฐานคุณภาพชีวิตอย่างน้อยขั้นต่ำที่ชัดเจน มาตรฐานในการเข้าถึงบริการต่างๆ เช่น มาตรฐานด้านการเข้าถึงการศึกษา สุขภาพ เข้าถึงสวัสดิการสังคม



ไม่อยากเรียกว่าเป็นระบอบการปกครองแบบหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่เวลาเรียกอย่างนั้น จะพูดถึง แบบคอมมิวนิสต์ ทุนนิยม เสรีนิยม ซึ่งรัฐสวัสดิการมันมีได้ทั้งในระบบคอมมิวนิสต์ อย่างคอมมิวนิสต์เดิมก็จะใช้รัฐสวัสดิการเกือบทุกประเทศ อย่างจีนสมัยก่อน คิวบาที่ตอนนี้ยังใช้อยู่ ประเทศคอมมิวนิสต์จะมีระบบรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้า อย่างคิวบา มาตรฐานการศึกษาของประชาชนสูงกว่าประเทศทุนนิยมในทวีปเดียวกัน หลังๆ หลายประเทศอย่างจีนก็เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นทุนนิยม



มันมีความเชื่อบางอย่าง เช่น ถ้าให้เงินไปแล้วคนจนจะไม่ทำอะไรเลย

มันต้องดูจากความเป็นจริง คือมีบางคนเมื่อได้รับสวัสดิการแล้วก็โกงระบบเช่น ในอังกฤษ ไม่มีบัตรประชาชนอาจไปลงทะเบียนเป็นคนว่างงานหลายชื่อแล้วก็เก็บเงิน แต่เขามีระบบตรวจสอบอยู่พอสมควรนะ แต่ก็อาจจะมีเป็นบางครั้ง แต่พอมีกรณีอย่างนี้ แม้เพียงส่วนน้อยก็จะถูกเอามายกตัวอย่างว่า ระบบนี้ใช้ไม่ได้ ทำให้คนขี้เกียจ แต่สามารถพูดได้ตามประสบการณ์ว่า ระบบสวัสดิการสำหรับคนว่างงานไม่เคยทำให้ใครอยู่ดีกินดีได้ คือมันเป็นระดับที่อยู่ได้แบบไม่ค่อยมีศักดิ์ศรีเท่าไหร่ แล้วระหว่างนั้นเขาต้องไปสมัครงาน คือต้องมีหลักฐานว่ากำลังออกหางานจริงๆ ไม่ใช่ระบบที่แค่ปล่อยให้มาเบิกค่าว่างงาน



รัฐสวัสดิการต่างกับสังคมสงเคราะห์อย่างไร

สังคมสงเคราะห์แบบไทยๆ มันเหมือนกับว่า...เราจะออกไปดูนะว่า เอ๊ะ ใครเขาอยู่ลำบาก ยากจน เราก็เอาเงินให้เขา หรือเราบอกตอนนี้เรามีเงินเท่านี้นะ คุณมาเอา อันนี้มันเหมือนแจกเงินคนจนน่ะ มันไม่ใช่รัฐสวัสดิการ มันไม่ได้ช่วยให้เขายืนบนลำแข้ง สอง มันไม่มีระบบ ระบบรัฐสวัสดิการมันต้องช่วยคน เช่น ในขณะที่คนพิการไม่มีงานทำก็ต้องช่วย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีให้คนพิการได้มีโอกาสทำงานด้วย มันเป็นการดูแลศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ว่างงานอย่างเดียว



ในลักษณะที่ผ่านมา ระบบสังคมสงเคราะห์ เรามักเป็นคล้ายเจ้าหน้าที่นั่งในออฟฟิศ รอให้คนมาหาว่า วันนี้ไม่มีค่ารถ มาโรงพยาบาลไม่มีค่ารักษา โอเค คุณเอาไป 500 คุณเอาไปเท่านี้ อันนี้มันไม่เป็นระบบ รัฐสวัสดิการเป็นระบบที่ทุกคนมีสิทธิ มันไม่ใช่ความเมตตา ซึ่งความเมตตาบางครั้งเป็นการดูถูกคน มันเป็นการบอกว่า ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานตรงนี้ ใครไม่ได้สิทธิตรงนี้ก็คือถูกละเมิดสิทธิ รัฐจะต้องประกันว่า เขาได้สิทธิตรงนี้ นี่คือความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ การที่เขาจนแล้วไม่มีเงิน ไม่มีงานทำ ไม่ใช่ความผิดของเขา จริงๆ รัฐก็ต้องจัดระบบให้ทุกคนมีงานทำด้วย



รัฐสวัสดิการต่างจากคอมมิวนิสต์อย่างไร

มันคนละเรื่องกัน คอมมิวนิสต์ เป็นระบบที่ไม่มีใครมีทรัพย์สิน เช่น ไม่มีใครมีที่ดินที่นาของตัวเอง ทุกอย่างเป็นของรัฐหมด ทุกคนทำงาน ทำนาในที่นาของรัฐ ผลผลิตที่ได้ก็แบ่งกัน ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครทำงานมากทำงานน้อย คนละเรื่องกับรัฐสวัสดิการ



รัฐสวัสดิการคนยังมีทรัพย์สินอยู่ มีนาของตัวเอง มีที่ดินของตัวเอง เพียงแต่เรื่องปัจจัย 4 หรือปัจจัยที่จำเป็นต่อชีวิต รัฐให้หลักประกันว่า เราจะไม่ปล่อยให้คุณอดอยาก ถึงขนาดอยู่ไม่ได้ ถ้าคุณว่างงาน เราจะมีค่าครองชีพให้คุณพออยู่พอกินได้ แต่ไม่ได้อยู่ดีกินดีนะ



ถามว่ามีอะไรเหมือนคอมมิวนิสต์ไหม อาจจะมี แต่คอมมิวนิสต์เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบการผลิตร่วม โดยไม่มีใครมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือปัจจัยการผลิต ที่จริงคอมมิวนิสต์เป็นสูงสุดของสังคมนิยมในความคิดแบบมาร์กซ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีผลผลิตเพียงพอสำหรับทุกคน จนทุกคนได้ตามต้องการ ซึ่งไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ แม้แต่ประเทศที่เรียกตัวเองว่าคอมมิวนิสต์ ก็ไม่เคยมีระบบคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง



คำว่าสังคมนิยมตีความได้ 2-3 แบบ ในความหมายของมาร์กซิสต์กับคนที่ทำเรื่องสังคมนิยมประชาธิปไตย แนวคิดจะไม่ตรงกันทีเดียว คือระบบรัฐสวัสดิการมันเกิดขึ้นในประเทศที่มีการปกครองได้หลากหลาย



รัฐสวัสดิการเป็นการปิดปากคนงานด้วยสวัสดิการ ทำให้ไม่ออกมาเรียกร้อง เพื่อให้ทุนนิยมเดินหน้ากดขี่ต่อไปใช่หรือเปล่า

มีส่วนจริง หนึ่ง อาจจะจริงว่า รัฐสวัสดิการกับทุนนิยมสุดขั้ว เข้ากันไม่ได้ แต่จะต้องบอกว่า ประเทศทุนนิยมส่วนใหญ่มีระบบรัฐสวัสดิการ เช่น ประเทศในยุโรป หรือญี่ปุ่น ในต่างประเทศ กลุ่มมาร์กซิสต์ กลุ่มที่ไม่ชอบอำนาจรัฐ ไม่เคยมีกลุ่มไหนออกมาคัดค้านรัฐสวัสดิการ เพราะในประเทศสังคมนิยมก็ใช้ระบบนี้ มีแต่จะบอกว่า มันยังไม่พอ มันยังไม่ดีพอ



พูดง่ายๆ ว่าระบบรัฐสวัสดิการที่ดีนั้น นายทุนไม่ชอบ เพราะจะต้องมีการเก็บภาษี โดยเฉพาะต้องเก็บคนรวย เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพราะฉะนั้นคนที่มีรายได้ดีจะต้องถูกเก็บแพงมากเมื่อเทียบกับคนยากจน ได้เท่ากันสิทธิเท่ากัน แต่เก็บเบี้ยประกันคนละระดับกัน เช่น คนจนจริงๆ ก็ไม่เก็บเลย คนพอมีรายได้แต่ยากจนก็เก็บน้อย คนมีรายได้ฐานะปานกลางก็เก็บปานกลาง คนมีรายได้ฐานะสูงก็เก็บสูง เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ชอบระบบสวัสดิการจริงๆ จะเป็นกลุ่มนายทุนมากกว่า เพราะเขามีเงินซื้อประกันเอง อยากประกันของเขาเอง แต่ไม่อยากถูกเก็บภาษี



จะสังเกตว่าในประเทศประชาธิปไตย ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคอนุรักษ์นิยมหรือพรรคนายทุน จะพยายามลดรัฐสวัสดิการให้น้อยที่สุด แต่จะไม่มีประเทศไหนกล้ายกเลิกไปเลย เพราะประชาชนจะยอมรับไม่ได้ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคแรงงานหรือสหภาพแรงงานจะพยายามเพิ่มสิทธิประโยชน์จากรัฐสวัสดิการที่ได้



เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่ารัฐสวัสดิการเป็นเครื่องมือของนายทุนที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานไม่เรียกร้อง ผมไม่เห็นด้วย และคิดว่าไม่ใช่ เพราะมาร์กซิสต์ทั้งหลายก็ไม่มีใครปฏิเสธระบบรัฐสวัสดิการ เพียงแต่บอกว่าต้องไปไกลกว่านั้น เช่น ต้องสร้างระบบสังคมนิยมทั้งประเทศ หรือต้องเสริมรัฐสวัสดิการให้เข้มแข็งขึ้น เพราะฉะนั้น ระบบรัฐสวัสดิการไม่ใช่ระบบที่ฝ่ายซ้าย สังคมนิยม มาร์กซิสต์ จะโจมตี มีแต่ให้เข้มแข็งขึ้น เป็นการเรียกร้องจากรัฐให้ไปเก็บภาษีแพงๆ จากคนรวยเอามาถัวเฉลี่ยให้ทุกคนได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน เป็นระบบที่คนรวยต้องจ่ายเบี้ยประกันแพง คนจนจ่ายถูก แต่ได้สิทธิเท่ากัน มันสวนกับแนวคิดทุนนิยมแบบสุดขั้วอยู่



แปลว่ารัฐสวัสดิการจะอยู่ร่วมกับทุนนิยมได้

ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดีส่วนใหญ่เป็นประเทศทุนนิยมเกือบทั้งนั้น มันอยู่ร่วมกับทุนนิยมได้ อาจเรียกว่าเป็นทุนนิยมที่ไม่รุนแรงก็ได้ เช่น ถ้าดูวิถีชีวิตของคนอังกฤษ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนมีน้อยกว่าประเทศไทยเยอะ คนรวยก็ไม่ได้รวยล้นฟ้า คนจนก็ไม่ได้จนแบบแย่มากๆ ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี จุดสำคัญคือ ช่องว่างจะน้อย แล้วเปิดโอกาสให้คนมากขึ้น เช่น ลูกคนจนจะได้เรียนสูงๆ สามารถใช้ความสามารถของตัวเองในการทำงานมากขึ้น เป็นระบบที่เปิดทางให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้น



ประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวยมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ อย่างรถเบนซ์นี่ขายดีมากในประเทศไทย ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีรถเบนซ์มากที่สุดในโลก ในอังกฤษ รถไม่ต่างกันมากนะ นานๆ จะเห็นเบนซ์สักคันหนึ่ง บ้านช่องก็ไม่ต่างกัน คือคนไม่แสดงความรวย



ในอังกฤษ พอรายได้ขึ้นไปถึงระดับหนึ่ง โดนเก็บภาษี 80-90% คือภาษีมันจะสูงมาก ซึ่งในความเห็นผมนั่นคือความเป็นธรรม แล้วเราไม่สามารถบอกได้ว่า คนที่รวยเป็นหมื่นล้านเป็นแสนล้านมาจากฝีมือการทำงานของเขา มันไม่ใช่มาจากโชคเขาบ้าง มาจากการโกงบ้าง สารพัดอย่าง ไม่ควรมีระดับไหนที่ทำให้คนสามารถต่างกันถึงขนาดนั้นได้



คือทุกประเทศในโลกมันมีส่วนผสมของสังคมนิยมกับทุนนิยม ด้านที่เป็นสังคมนิยมก็จะเป็นด้านนี้แหละคือรัฐจะจัดระบบสวัสดิการให้กับประชาชน ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกินไป นั่นคือสังคมนิยม ด้านทุนนิยมคือ ให้โอกาสการลงทุน คนมีอิสระที่จะทำกิจการต่างๆ หารายได้ ก็เป็นส่วนผสม มันไม่มีคำว่าประเทศนี้เป็นประเทศทุนนิยมล้วนหรอก



หรือถ้าที่ทุนนิยมที่สุดอาจจะเป็นอเมริกาก็ได้ เพราะว่าระบบสวัสดิการสังคมก็น้อย แต่ก็ไม่ถึงกับไม่มีเลยนะ อเมริกาก็มี แต่อ่อนที่สุด และเมื่ออ่อนที่สุด ปรากฏว่าค่ารักษาพยาบาลที่อเมริกา เป็นค่ารักษาพยาบาลที่แพงที่สุดในโลก เพราะเปิดเสรีให้เอกชนเก็บตามใจชอบ คนที่มีรายได้พอก็จะประกันสุขภาพด้วย แต่หลายคนประกันสุขภาพ พอเกิดวิกฤตจริงๆ บางโรค ประกันไม่ครอบคลุม เสร็จเลยตรงนั้น คือมันเป็นสังคมที่คุณตายได้ เพราะคุณไม่มีเงิน เราต้องการสังคมที่จะไม่ตายจากสาเหตุเพียงเพราะไม่มีเงิน เช่น ถ้าจำเป็นต้องรักษาโรคมะเร็ง ก็ต้องได้ยามะเร็ง ไม่ว่ารวยจนขนาดไหนก็ต้องได้



หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสวัสดิการ

ขณะนี้เรามีระบบด้านสุขภาพอยู่หลายระบบ ประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบบข้าราชการ พวกเราเคยรณรงค์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวทั้งประเทศ มีทั้งข้อดีข้อเสีย ทุกคนจะมีหลักประกันสุขภาพ ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างบริการ ตอนนี้ใน 3 ระบบมีทั้งข้อได้เปรียบเสียเปรียบกัน ได้เปรียบที่สุดตอนนี้คือของข้าราชการที่สามารถเบิกสิทธิประโยชน์ได้ค่อนข้างสูง แต่มีข้อจำกัดคือไม่สามารถรับบริการของเอกชนได้ ประกันสังคมรับบริการเอกชนได้ หลักประกันสุขภาพแล้วแต่ว่า โรงพยาบาลไหนเข้าโครงการ



อย่างระบบของอังกฤษ National health service ประชาชนทุกคนอยู่ในระบบเดียว ใช้เงินภาษีประกันสุขภาพให้ทุกคน คล้าย สปสช. แต่มีรายละเอียดว่า คนที่มีฐานะรายได้พอจ่ายได้ ก็ต้องจ่ายส่วนรวมระดับหนึ่ง เช่น ไม่ต้องจ่ายค่ายา แต่ต้องจ่ายค่าใบสั่งยา ค่าตรวจไม่เสีย นอนโรงพยาบาลไม่เสียค่าอาหาร ทุกอย่างฟรี แต่ถ้าไปคลินิกแล้วมีความจำเป็นเรื่องยา ต้องเสียค่าใบสั่ง คิดเป็นเงินไทย อาจดูแพงคือ 500 บาทต่อครั้ง คล้ายอย่างของเรา 30 บาทแต่ 30 บาท เป็นค่ารักษา 500 บาทหรือเกินกว่านี้เป็นค่าใบสั่งยา ไม่ว่ายาตัวนั้นจะเป็นแสนก็จ่ายเท่านั้น คนไม่มีงานทำ คนชรา เด็ก จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสีย เฉพาะคนมีรายได้เท่านั้นที่จะต้องเสีย คล้ายระบบ สปสช.ของประเทศไทย



ถ้ามีหลายระบบจะเกิดการแข่งขันกันระหว่างระบบ เพื่อบริการที่ดีกว่าและประสิทธิภาพมากกว่า

แต่อาจเกิดความเหลื่อมล้ำ คนที่อยู่ในระบบหนึ่งอาจเสียเปรียบคนอีกระบบ ถ้าเป็นความเห็นของผม ผมคิดว่าสิทธิประโยชน์ต้องเท่ากัน ผมยังอยากให้เป็นระบบเดียวมากกว่า


ถ้ารวมกันหมดทุกระบบ รัฐบาลจะเอาเงินจากไหน

นี่เป็นคำถามยอดฮิต ทุกประเทศที่เขามีระบบหลักประกันสุขภาพเขาก็แก้ได้ อยู่ที่ว่าเราพร้อมจะเอาเงินมาใช้ไหม ถ้าเราคิดว่า ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนเป็นอันดับแรก รัฐสวัสดิการต้องเป็นอันดับหนึ่งในการใช้จ่ายเงินของรัฐ ในความคิดของผม หน้าที่ของรัฐคือตรงนี้มากกว่าเรื่องอื่น



ระบบหลักประกันสุขภาพ ทีม อ.อัมมาร สยามวาลา วิเคราะห์แล้วว่า ในระดับหัวละประมาณ 2,600-2,700 บาทต่อปีต่อหัว สามารถจัดบริการที่ค่อนข้างดี ระบบประกันนี้เป็นระบบที่คนที่ไม่ป่วย จ่ายให้คนป่วยในแต่ละปี แน่นอนว่า ถ้าใน 1 ปีทุกคนป่วย 2,700 บาทไม่พอ แต่ในสมมติฐานว่า ใน 10 คนอาจมีแค่ 3-4 คนเท่านั้นที่ต้องไปรักษาใน 1 ปี อย่างนี้จะพอ ขณะนี้รัฐจ่ายอยู่ที่ประมาณ 2,200-2,300 บาท ถ้าขึ้นไปอีกประมาณ 500-600 บาท ทั้งหมด 60 ล้านคน เท่ากับประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เราสามารถจัดบริการที่ดีให้ทุกคนได้



ถามว่าเอามาจากไหนเหรอ ประเทศไทยตอนนี้เป็นประเทศที่เก็บภาษีน้อยมาก แล้วก็เป็นภาษีรั่วเยอะ โกง ภาษีกันเป็นแถว ไม่มีการเก็บภาษีที่ดิน มรดก ภาษีขายหุ้นก็ไม่เก็บ ที่เรียกว่า capital gain ก็ไม่เก็บ คือเราควรจะเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้นอีกเยอะ คนที่มีเงินเป็นหมื่นล้าน ปีหนึ่งควรจะเสียภาษีเป็นพันล้าน อันนี้เป็นความยุติธรรม คือต้องแบ่งปันกัน เพราะฉะนั้น มีวิธีเก็บภาษีได้หลายๆ แบบ มันมีวิธีเก็บภาษีแบบก้าวหน้ามากกว่านี้



แม้แต่ VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ผมยังเคยคิดว่าน่าจะเก็บแบบ 2 อัตรา ของที่คนจนซื้อก็เก็บถูกหน่อย ของที่คนรวยซื้อก็เก็บแพง เช่น ซื้อของราคาหนึ่งแสนขึ้นไปอาจจะเสียแวท 20% ก็ได้ เช่น ไปซื้อรถเบนซ์ หรือซื้อเกิน 5 แสนก็เสียอัตราหนึ่ง



ถ้าเขาบอกว่าเป็นสิทธิของเขาที่มีเงินเยอะ

อันนั้นเป็นปรัชญาที่เถียงกันระดับโลกไง คือมนุษย์เรามีสิทธิที่จะร่ำรวยบนความจนของคนอื่นรึเปล่า หรือมนุษย์เราควรจะอยู่กันอย่างไม่ต่างกันมากนัก แต่ว่าแต่ละคนอาจจะร่ำรวยตามความสามารถหรือความขยันต่างกันบ้าง ในความเห็นผม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องได้รับการดูแลในความจำเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน สุขภาพ การศึกษา การมีงานทำ แล้วก็เรื่องเกี่ยวกับทุพพลภาพ ชราภาพ หรือแม้แต่คนที่ต้องดูแลลูกโดยลำพัง ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ยากจนอยู่แล้ว เราสามารถให้หลักประกันว่า คนไทยทุกคนกินดีอยู่ดีได้ในระดับหนึ่ง



ถ้าเขาบอกว่า ทำอย่างนี้จะทำให้เศรษฐกิจไม่ก้าวหน้าล่ะ

ก็ต้องถามว่า แคนาดาก้าวหน้าไหม นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ก้าวหน้าไหม อิตาลีก้าวหน้าไหม ประเทศเดียวที่ไม่ค่อยมีสวัสดิการสังคม คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งอเมริกามีปัญหาความยากจนมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก คนยากคนจนจนมากมาย จะเห็นคนอยู่ตามท้องถนน และหลายๆ คนในอเมริกาต้องมารับการรักษาพยาบาลที่ประทศไทย เพราะไม่มีเงินพอจะซื้อประกันสุขภาพได้ ซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อมาผ่าตัดที่เมืองไทยถูกกว่า



เรื่องรัฐสวัสดิการในประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกอยู่ในระดับที่แตกต่างกัน ในเอเชียก็มีญี่ปุ่น เกาหลีนิวซีแลนด์ มีทั้งนั้น เพียงแต่เราจะมีระบบแบบไหนบ้าง มากน้อยแค่ไหน แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจบนความทุกข์ของผู้ใช้แรงงานและประชาชน คือเราขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาตลอด 30-40 ปี แต่เราไม่เอาความรวยนั้นมาสร้างระบบสวัสดิการของประชาชน เราเอาความร่ำรวยนั้นมาให้คนรวย แล้วเราให้คนจนต้องพึ่งตนเอง ญาติพี่น้องซึ่งเป็นระบบที่ไม่แฟร์



ยกตัวอย่างเช่น คนงานจำนวนมาก เวลามีลูกไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ในกรุงเทพฯ เพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน แล้วใครจะดูแลลูกเล็กๆ จึงต้องส่งให้ตายายในต่างจังหวัดดูแลลูก เป็นการอาศัยกลไกเครือญาติพี่น้องเป็นระบบสวัสดิการ เท่ากับสร้างภาระให้ตายาย



เรามีโรงเรียนอนุบาลฟรีไหม เรามีสถานที่ดูแลเด็กของคนงานระหว่างเขาไปทำงานโดยไม่ต้องเก็บเงินไหม ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขามีทั้งนั้น แล้วเราทำให้ทุกคนในครอบครัวที่ทำงานได้ต้องออกไปดิ้นรนทำงาน เพราะไม่อย่างนั้นรายได้จะไม่พอ ทั้งพ่อทั้งแม่ ครอบครัวที่ยากจนแม่จะอยู่บ้านดูแลลูกนี่แทบจะเป็นไปไม่ได้ แล้วถ้าเป็นแม่อยู่บ้านดูแลลูก เผลอๆ พ่อก็ต้องทำงานทั้งกลางวันทั้งกลางคืน เช่น ทำงานกลางวันอย่างหนึ่ง กลางคืนก็ทำอีกอย่างหนึ่ง เช่น ขับแท็กซี่ หรืออะไรก็แล้วแต่



นี่คือชีวิตที่เราสร้างสำหรับคนจนในประเทศไทย เขาเสียสิทธิ เสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเราไม่แคร์เขา เราไม่แคร์ประชาชน แล้วอันนี้ขอพูดว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่แคร์ รัฐบาลทักษิณก็ไม่แคร์ รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ไม่แคร์



แล้วประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรล่ะ

ประชานิยมของทักษิณก็เป็นเรื่องดีระดับหนึ่ง ถ้ามันทำด้วยความจริงใจที่จะแก้ปัญหา คือข้อดีของรัฐบาลทักษิณที่มีนโยบายประชานิยมก็คือ ต่อไปนี้ทุกพรรคการเมืองต้องเริ่มคิดถึงประชาชนแล้ว แต่รัฐบาลทักษิณใช้นโยบายประชานิยมแค่ในระดับที่เขาคิดว่า เขาหาเสียงได้ เขาไม่ได้ทำในระดับรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง เช่น เขาไม่พร้อมจะขึ้นภาษีคนรวย เพราะคนในรัฐบาลเป็นคนรวยทั้งนั้น เป็นคนที่จะเสียเปรียบถ้ามีการเก็บภาษี เพราะฉะนั้นเขาไม่ได้จริงใจ ซึ่งต่างกันนะ



อย่างในอังกฤษ ระบบรัฐสวัสดิการเข้ามาได้ไง มันเข้ามาเพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีรัฐบาลของพรรคแรงงาน พรรคแรงงานเป็นพรรคของกรรมกร คนที่มาเป็นรัฐมนตรีที่เก่งที่สุดเรียนไม่จบ แต่ได้ชื่อว่า เป็นคนที่ได้ชื่อว่านำระบบรัฐสวัสดิการเข้ามาสู่อังกฤษคนหนึ่ง เขาเป็นลูกของกรรมกรเหมืองถ่านหิน เป็นตัวแทนของประชาชนคนทุกข์คนยาก เขาเข้าใจว่าทำไมถึงจำเป็นต้องมีรัฐสวัสดิการ แล้วประเทศอังกฤษนั้นผ่านความทุกข์ความยากของสงครามมาหลายปี มันถึงจังหวะที่นำรัฐสวัสดิการเข้ามาได้ เป็นที่ยอมรับของประชาชน และระบบหลักประกันสุขภาพของอังกฤษก็เริ่มตอนนั้นและก็มีมาถึงทุกวันนี้ แม้จะผ่านรัฐบาลทุนนิยม รัฐบาลฝ่ายขวาก็ไม่กล้าที่จะยกเลิกระบบหลักประกันสุขภาพของอังกฤษ เพราะเป็นที่นิยมของประชาชน คำว่า ประชานิยม ถ้ามันเป็นการรับใช้ความต้องการของประชาชน สร้างความอยู่ดีกินดีของประชาชนก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นเรื่องดี



ประชานิยมกับรัฐสวัสดิการเหมือนกันไหม

ประชานิยมมักจะใช้ในความหมายลบ หมายถึงการคิดนโยบายเพื่อเอาใจประชาชนที่จะทำให้ popular คือใช้ว่า populism หมายความว่าเป็นนโยบายที่จะสร้างความนิยมจากประชาชน ซึ่งอาจจะออกมาเป็นนโยบายที่ผิวเผิน แต่ประชาชนชอบก็ได้ บังเอิญผมก็มองว่านโยบายหลายอย่างของทักษิณก็ผิวเผิน แต่รัฐบาลก่อนๆ ก็ไม่ได้ทำ มันก็เลยดูดี แต่ถ้ามีการแข่งขันกันนะ อาจจะมีอีกหลายรัฐบาลที่ทำได้ดีและลึกซึ้งกว่านี้เยอะ



ต่อไปเรื่องสวัสดิการทุกพรรคต้องมีนโยบายนี้

ผมกลัวว่าทุกพรรคจะพยายามคิดแบบนโยบายประชานิยม ซึ่งผมอยากให้ทุกพรรคคิดแบบรัฐสวัสดิการ คือจริงใจกับเรื่องนี้ ไม่ใช่ทำเป็นสัญลักษณ์ หรือทำเป็นอะไรที่ดูดี ไม่ใช่เป็น gimmick ไม่ใช่เป็นของเล่น เป็นของจริง ถ้าจะทำของจริงได้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ขึ้นภาษี ไม่เก็บภาษีแบบก้าวหน้าเพื่อกระจายรายได้ เพราะไม่ลงตัวทางการคลัง เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เก็บภาษีคนรวยมากขึ้นอีก



ในด้านการจัดการ ไม่ค่อยมีใครเชื่อว่ารัฐจะทำได้จริง

ผมก็จะถามว่าแล้วจะมีรัฐไปทำไมล่ะ คืออันนี้ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งว่า ประชาชนจัดการเอง ถ้าทำได้ก็ดี แต่ผมไม่เชื่อว่าทำได้ ตัวอย่างบางชุมชนในประเทศไทย เขาก็มีกองทุนนั้นกองทุนนี้ แต่ต้องดูพื้นฐานว่าคนในชุมชนนั้น ฐานะเขาเป็นอย่างไร แล้วจะยกตัวอย่างนี้เอาไปใช้ได้ทั่วประเทศมันไม่ได้ ผมพร้อมที่จะมองการผสมผสานระหว่างการช่วยตัวเองในระดับท้องถิ่นหรือชุมชนกับบทบาทของรัฐ เช่น ในระบบหลักประกันสุขภาพ เราก็คิดตุ๊กตาได้หลายรูปแบบ เช่น ในระดับที่ชุมชนเองเปิดสถานบริการสุขภาพของตัวเอง จ่ายหมอ พยาบาลของตัวเอง เอาเงิน สปสช.มาใช้ได้ ส่วนหนึ่งอาจจะให้บริการเพิ่มโดยเอาเงินอบต.มา หรือเงินกองทุนบางอย่างมาเสริมทำให้บริการพิเศษขึ้นก็ทำได้ หรืออาจจะมีระบบที่ออมในชุมชนด้วย แล้วก็ใช้เงินรัฐด้วย



แต่ปัญหาของการออมในชุมชนก็คือ แต่ละชุมชนมีกำลังออมไม่เท่ากัน เช่น เจ้าของสวนยางเล็กๆ ทางใต้อาจจะมีฐานะดีกว่าชุมชนเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้งทางอีสาน เมื่อ 2 ชุมชนไม่เท่ากัน ยุติธรรมไหมที่จะได้บริการที่ต่างกัน จริงๆ รัฐก็อาจจะช่วยชุมชนที่ยากจนมากกว่า แล้วช่วยชุมชนที่ช่วยตัวเองน้อยกว่า ก็อาจเป็นได้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ก็เป็นแนวคิดที่เอามาใช้ประโยชน์ได้อยู่เหมือนกัน



ถ้าถามว่ารัฐมีไว้ทำไม บางคนอาจบอกว่ารัฐมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ เพื่อส่งทหารไปสู้ ผมก็ถามว่า สู้กับใครเพื่ออะไร บางคนอาจจะบอกว่าสู้เพื่อประชาชน แต่ไอ้คำว่า เป็นประชาชนของประเทศหนึ่งมันมีความหมายอย่างไร ถ้าหากว่าคนแย่งชิงกันไปหารายได้ และมันไม่มีอะไรที่ร่วมกันเลย คือ คำว่าเป็นประเทศ เป็นประชาชน เป็นชุมชน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การดูแลซึ่งกันและกัน มันต้องเป็นระบบของสวัสดิการ



ดังนั้น ถามว่ามีรัฐไว้ทำไม คำตอบแรกสำหรับผมก็คือ มีรัฐไว้เพื่อประกันความอยู่ดีกินดีของประชาชนทุกคน ว่ามีมาตรฐานขั้นต่ำของชีวิตที่ได้รับหลักประกัน เช่น จะไม่ทุกข์ยากกว่านี้ จะไม่มีรายได้น้อยกว่านี้อย่างน้อยต้องมีที่อยู่อาศัยในสภาพอย่างนี้ อย่างน้อยจะต้องมีที่ดินแปลงเล็กๆ ที่ทำการเกษตรได้ อย่างน้อยจะต้องได้เรียนหนังสือตามความสามารถได้ อย่างน้อยถ้าไม่สบาย ต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ร่วมกัน นี่คือความสำคัญของรัฐเหนือสิ่งอื่นใด นี่คือความหมายของรัฐ



เป็นอุดมคติเกินไปรึเปล่า จะทำได้จริงไหม

เราก็ต้องต่อสู้เพื่อให้จริง แต่มันก็มีตัวอย่างในโลกที่พูดไปแล้วหลายอย่างที่เราเลียนแบบได้ไง เพียงแต่คนไทยมักจะไม่รู้เรื่องนี้ คือคำนี้ไม่ใช่คำที่ต่อสู้กันในเมืองไทย เป็นเรื่องใหม่ ทั้งๆ ที่มันไม่ควรเป็นเรื่องใหม่ ที่จริงมีคนสู้เรื่องนี้นะ เช่น ศ.นิคม จันทรวิทูร ที่สู้เรื่องระบบประกันสังคม กลุ่มที่นำระบบประกันสังคมเข้ามาในประเทศไทยก็เป็นกลุ่มที่เข้าใจแนวคิดเรื่องนี้อยู่



ปัญหาคือ มันไม่ได้ไปไกลกว่านั้น ไปถึงระยะหนึ่ง รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานก็ไปยึดกองทุนนี้มาจัดการ คือกองทุนประกันสังคมเป็นเงินของผู้ใช้แรงงาน อันนี้เป็นการมีส่วนร่วมโดยตรง แต่ผู้ใช้แรงงานไม่ได้มีส่วนตามเงินของเขา เขาจ่ายเงิน รัฐจ่ายน้อย นายจ้างกับลูกจ้างจ่ายเยอะ แต่รัฐกลับไปครอบงำ อันนี้ไม่แฟร์ ดังนั้น สำหรับผม ความหมายของรัฐคือ ต้องสร้างความเท่าเทียมกันในระดับพื้นฐาน ทุกคนต้องมีพอกิน พออยู่พอกิน นี่คือภารกิจอันดับหนึ่งของรัฐ ของผู้เป็นรัฐบาลด้วย



แล้วเราจะเปลี่ยนความคิดให้คนหันมาสนใจยังไง เพราะคนมักจะมองในแง่ลบ และติดว่าเรื่องประชานิยมเป็นเรื่องให้เปล่า

ที่เราต้องทำงานความคิดมากที่สุดคือประชาชนทั่วไป คนรวยไม่ค่อยชอบไอเดียนี้ ไปถามนักธุรกิจใหญ่ว่าอยากมีระบบรัฐสวัสดิการไหม ส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่ ที่จริงมันต้องเข้ามาโดยระบบประชานิยมเหมือนกันคือมันต้องมาโดยนโยบายที่ประชาชนเห็นแล้วร่วมกันเลือกรัฐบาลนั้นขึ้นมา เหมือนกับที่พรรคแรงงานขึ้นมาได้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนเบื่อหน่ายแล้ว เรื่องความทุกข์ยาก อยากเห็นรัฐบาลที่จะเข้ามาสร้างความมั่นคงในปัจจัยพื้นฐาน เขาถึงเลือกรัฐบาลพรรคแรงงาน



ไม่ใช่เรื่องผิดที่พรรคการเมืองใดจะนำเสนอนโยบายด้านนี้ ผมคิดว่าในการปฏิรูปการเมืองสังคม เราต้องเปิดพื้นที่ให้มีพรรคการเมืองที่หลากหลายได้ เราคงต้องมีพรรคการเมืองที่ชูเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นนโยบาย พรรคการเมืองนี้เมื่อชูแล้ว ถ้ามีคนดีๆ ลงสมัคร ก็มีโอกาสได้รับเลือกจำนวนหนึ่ง คงไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ก็จะเริ่มประชาสัมพันธ์ เริ่มชูประเด็นอย่างนี้ได้



ผมว่าถ้าชูเรื่องนี้ดีๆ ประชาชนเขาก็เอาด้วยนะ คือเสียงส่วนใหญ่เขาก็เอาด้วย แต่ขณะนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนชูเรื่องนี้ เพราะไม่มีพรรคการเมืองไหนที่แคร์คนยากคนจนโดยแท้จริง เพราะฉะนั้น เราต้องปรับปรุงระบบการเมืองเราให้เกิดพรรคการเมืองได้มากขึ้น ให้มีความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกเป็นล้านๆ คนถึงจะตั้งได้ ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนเป็นร้อยเป็นพันล้านถึงจะตั้งได้ เราจำเป็นจะต้องมีระบบที่เปิดโอกาสให้เกิดพรรคการเมืองเล็กๆ ได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนสมัครเป็นอิสระโดยไม่ต้องสังกัดพรรคได้



ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้เรื่องรัฐสวัสดิการเลย นักวิชาการก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ผู้วางนโยบายก็ไม่ได้สนใจ เป็นเรื่องที่สังคมไทยละเลยมาตลอด เป็นเรื่องใหม่ แนวคิดใหม่ ขายยาก ต้องคิดเรื่องรูปธรรม คือตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่ตอนนี้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า popular มาก พอเอาเข้ามาปั๊บ ใครจะมารื้อทิ้งเนี่ย เสี่ยงมาก ทั้งที่บริการยังไม่มีเท่าไหร่นะ สามารถดีกว่านี้ได้อีกหลายเท่า



มาดูว่ามาได้อย่างไร เพราะมันมีโพลล์ถาม มีคนอย่างหมอสงวน (นิตยารัมภ์พงศ์) พยายามผลักดัน พยายามทำโพลล์ถามประชาชนว่า รักษาฟรีเอาไหม ประชาชนบอกเอา โดยไม่ได้คิดว่า ฟรีแล้วจ่ายอะไรบ้าง มองว่า วิธีขายรัฐสวัสดิการ ต้องเอาทีละประเด็นเข้ามา ต้องถามประชาชนว่า สมมติเรามีบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกคนดีไหม ทุกคนจะคิด เออ ตอนนี้เงินเดือนต้องส่งไปให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัด คราวนี้พ่อแม่เราก็จะมีเงินใช้



ในความคิดผม วิธีทำให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ ต้องเริ่มจากอันที่มีความจำเป็นมากที่สุด ผลักดันให้มันเกิดจริง ไม่ต้องไปใช้ชื่อว่ารัฐสวัสดิการด้วยซ้ำไป เช่น ผมเสนอว่าต้องเรียนฟรีจริง ฟรีทั้งค่าอาหารกลางวัน รถไปโรงเรียน เอาไหม ประชาชนบอกเอา เราก็ผลักดันตรงนี้ หรือทุกคนมีสิทธิเรียนมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องเสียค่าเรียนเลยดีไหม อยู่ดีๆ มาบอกให้ทุกคนมายอมรับรัฐสวัสดิการเลยเราเสียเปรียบ และจะมีคนที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า โอ๊ย รัฐสวัสดิการล้าสมัยมาก แต่ละประเทศกำลังยกเลิกอยู่แล้ว ซึ่งมีทั้งส่วนจริงและไม่จริง



ส่วนจริงคือ การเมืองในแต่ละประเทศมันแกว่งไปแกว่งมา ในประเทศทางยุโรป การเมืองในระยะหลังมันแกว่ง ได้รัฐบาลที่เป็นทุนนิยมมากขึ้น เขาก็จะลดสิทธิประโยชน์ด้านรัฐสวัสดิการลง และเก็บภาษีน้อยลงด้วย แต่ไม่มีประเทศไหนยกเลิกเลยนะ ถ้าในอนาคตฝ่ายซ้ายขึ้นมา เขาก็จะแกว่งกลับ เพราะฉะนั้น อยู่ดีๆ เอาแนวคิดนี้มาขายจะถูกบิดเบือนเยอะ



ถ้าเอารูปธรรมมาเสนอจะชัดกว่า เช่น ตอนนี้งบแผ่นดินจ่ายให้คนแก่เดือนละ 300-400 บาท แต่ไม่ใช่ได้ทุกคน ได้บางคนเท่านั้น ถ้าเราเปลี่ยนว่าได้ทุกคน คนละ 1,000 บาทเอาไหม หรืออาจจะเสียหลักการนิดหน่อย เช่น ถ้าใครไม่มีบำนาญอื่นจากบริษัทที่เคยทำงาน หรือไม่มีบำนาญจากการเป็นข้าราชการ นอกนั้นรัฐจ่ายบำนาญให้หมด เดือนละ 1,000-1,500 บาทแล้วแต่ค่าครองชีพ ผมว่าคนในสังคมรับได้นะ แต่จะต้องเก็บภาษีแพงขึ้น แต่ต้องให้ชัดว่าต้องเก็บคนรวยมากกว่า



ประเทศไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ไหม

หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่เป็น ไม่อย่างนั้นก็ต้องเป็นแบบอเมริกาที่เต็มไปด้วยคนจน คนนอนเต็มท้องถนน อเมริกาเป็นประเทศที่แม้แต่ชนชั้นกลางเองก็ไม่มีเงินรักษาสุขภาพ จะผ่าตัดก็ไม่มีเงินผ่าตัด จริงๆ ยิ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้นก็ยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงๆ ปัญหาอยู่ที่ว่า ประเทศไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการขนาดไหน จะจัดสวัสดิการสังคมได้มากหรือน้อย ซึ่งผมจะชูว่า ต้องมาก เช่น ต้องการให้การศึกษาฟรีหมด เป็นต้น และไม่ต้องการวัดความจนด้วย รัฐสวัสดิการในความหมายผม ไม่ต้องวัดความจน ไม่ต้องพิสูจน์ว่าเราจน ลูกถึงจะได้รับทุน เพราะจะขัดกับคอนเซ็ปท์พื้นฐานของรัฐสวัสดิการ แล้วจะเกิดคำถามว่า แล้วเอาเงินจากไหน คำตอบก็คือเอาเงินจากคนรวยมา



รัฐสวัสดิการควรจะครอบคลุมอะไรบ้าง

แล้วแต่แต่ละประเทศ แต่โดยหลักที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก คือ สุขภาพ การศึกษา การว่างงาน ดูแลผู้สูงอายุคนที่ดูแลตัวเองได้ไม่เต็มที่เช่น ผู้ทุพพลภาพ ในบางประเทศจะมีรัฐสวัสดิการช่วยเหลือเรื่องเด็กด้วย เช่น ช่วยดูแลเด็กสำหรับคนยากจน



รัฐสวัสดิการสามารถไปได้ไกล อย่างในอังกฤษค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงสิทธิประโยชน์สำหรับคนชรา ไม่ต้องจ่ายค่าเดินทาง คือเป็นเรื่องดูแลให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี โดยเฉพาะคนที่อ่อนแอในสังคม ที่ต้องได้รับการดูแลมากกว่าคนที่แข็งแรง ถ้าคุณไม่ว่างงาน คุณก็ไม่ได้สิทธิของคนว่างงาน คือมันเกี่ยวกับความอ่อนแอทางสังคมด้วย เช่นขณะนี้คุณเสียเปรียบ คุณไม่มีงานทำ คุณต้องได้รับการดูแลจากรัฐ จนกว่าจะมีงานทำ เมื่อนั้นรัฐจะถอนการดูแลตรงนี้ หรือขณะนี้คุณป่วย คนอื่นไม่ป่วย เพราะฉะนั้นต้องได้รับการดูแลจากรัฐให้สบายดี



จะครอบคลุมถึงกลุ่มไหนบ้าง

ผมจะไม่แยกว่ามีบัตรประชาชนเลข 13 หลักหรือไม่มี ผมถือว่าถ้าอยู่บนแผ่นดินไทยก็ควรจะอยู่ในระบบรัฐสวัสดิการ พอพูดถึงตรงนี้จะเริ่มมีคนไม่เห็นด้วย เขาจะบอกว่า ถ้าเราทำอย่างนี้ ลาว กัมพูชา จีน เวียดนาม จะทะลักเข้ามาในเมืองไทย เพื่อมารับระบบสวัสดิการอันนี้ ผมคิดว่า ประเด็นนี้มันต้องตรวจสอบ ผมไม่ได้บอกว่าเราเปิดเสรีให้คนเข้ามา คือเราต้องมีระบบควบคุมอยู่เหมือนกัน ถามว่ามีประเทศอื่นเขาทำได้ไหม อย่างฝรั่งเศสที่ผ่านมาไม่เคยกีดกัน



ถ้าเรามองคนเป็นมนุษย์ อย่างเช่น แรงงานพม่าในประเทศไทยที่ทำงานก่อสร้าง เขามีลูกด้วย ลูกเขามาอยู่ด้วย เราก็ต้องให้ลูกเขามาเรียนในโรงเรียนของเราได้ ถ้าเขาป่วย เราต้องให้การรักษา ถ้าอย่างนั้นเหมือนเราทิ้งให้เขาตาย มันไม่ใช่ความยุติธรรม แต่ผมเห็นด้วยว่า อาจมีการเก็บภาษีแรงงานต่างด้าว หรือถ้าอยู่ในระบบประกันสังคม ก็ควรจะเก็บเบี้ยประกันสังคมเหมือนกันแรงงานไทย แต่นั่นหมายความว่า เราต้องให้รายได้ที่ดีพอสมควรด้วย



รวมถึงแรงงานที่ผิดกฎหมาย ถ้าเขาไม่สบาย ไปโรงพยาบาลก็ต้องรักษาเขา ไม่เช่นนั้น เราก็ทำลายระบบสุขภาพเราเองด้วย เช่น เราปล่อยให้แรงงานผิดกฎหมายซึ่งอาจมีเป็นล้าน ถ้าเขาป่วยเป็นโรคติดต่อต่างๆ เขาอาจจะแพร่ไปสู่คนอื่นๆ ในสังคม มันไม่ดีต่อสุขภาพของใครทั้งสิ้น แล้วมันขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน

ที่มา : ประชาไท

รัฐสวัสดิการจะดีทำไมต้องภาษีก้าวหน้า?

พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2546 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคณะผู้เขียน 11 ท่านรวมทั้งบรรณาธิการเอง (คืออาจารย์วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน) อธิบายคำ รัฐสวัสดิการ (welfare state) ไว้ว่า

“เป็นแนวคิดที่ประเทศทุนนิยมนำมาใช้ โดยรัฐจัดให้มีการประกันความมั่นคงให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ การประกันดังกล่าวเป็นการให้เปล่าหรือเกือบให้เปล่า เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล การสงเคราะห์มารดาและทารก การสงเคราะห์เด็กกำพร้า คนชราและคนพิการ การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ตกงาน และการฌาปนกิจ เป็นต้น นั่นคือการให้ความมั่นคง ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ (from the cradle to the grave) (เป็นชื่อบทความหนึ่งของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์)

“รัฐสวัสดิการจะมีการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากรัฐ โดยจัดให้มีการกระจายรายได้ด้วยการเก็บภาษีรายได้อัตราก้าวหน้าสูง การดำเนินกิจการผลิตสินค้าและบริการที่สำคัญโดยรัฐ ในด้านการเมืองการปกครองมีพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค และมีการเลือกตั้งทั่วไป ประเทศที่นำแนวคิดรัฐสวัสดิการมาใช้เป็นครั้งแรกได้แก่สหราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลพรรคแรงงาน ระหว่าง ค.ศ.1945-1951 [สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ.1945 - ผู้เขียน] นอกจากนี้มีประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรปตะวันตก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้นำมาใช้มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป พวกอนุรักษ์มักโจมตีรัฐสวัสดิการว่าเป็น ‘รัฐสังคมสงเคราะห์’ เป็นการบั่นทอนแรงจูงใจ ทำลายความคิดริเริ่มของเอกชน ขาดความรับผิดชอบทางการคลัง ส่วนพวกมาร์กซิสต์ที่นิยมการปฏิวัติก็โจมตีรัฐสวัสดิการว่า เป็นการยืดอายุของทุนนิยมที่กำลังร่อแร่ให้พ้นจากวาระสุดท้าย เป็นการถ่วงเวลาในการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ”

[ทำนองเดียวกัน Karl Marx ก็เรียกแนวคิดภาษีเดี่ยวซึ่งเก็บจากที่ดินของ Henry George ว่าเป็น ‘ที่มั่นด่านสุดท้ายหรือการต่อสู้ดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของลัทธินายทุน’ (Capitalism's Last Ditch) ด้วย แต่พวกทุนนิยมจำนวนมากกลับเรียกว่าเป็น ‘สังคมนิยม’ - ผู้เขียน]

เมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ.2549 หนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์มีรายงานพิเศษ โดย นภาพร แจ่มทับทิม เรื่อง 'รัฐสวัสดิการ' ที่แท้จริง สังคมต้องเมตตาต่อผู้คน ได้ให้ข่าวว่าในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2548 มีการเปิดตัวพรรคทางเลือกที่สาม อย่างพรรคมหาชน ภายใต้แนวคิดรัฐสวัสดิการนิยมก้าวหน้า และเมื่อ 25 พ.ค.49 ณ ห้องประชุม 12 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดสัมมนาเรื่อง “รัฐสวัสดิการกับการปฏิรูปการเมืองไทย” โดยมีอาจารย์ นักวิชาการ รวมทั้งนักศึกษาเข้าร่วมสัมมนาเป็นจำนวนมาก (จากเรื่อง นักวิชาการแนะรัฐสวัสดิการคือสิ่งที่รัฐพึงให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ที่ http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=13127 โดยอ้าง บทความประชาธรรม และบทความที่ http://www.parliament.go.th/news/news_detail.php?prid=7709) สรุปเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาษีได้ดังนี้

รศ.สุชาย ตรีรัตน์ ซึ่งกล่าวนำการอภิปรายกล่าวถึงเรื่องภาษีว่าควรจะมีการใช้ครรลองของกฎหมายเกิดขึ้นใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระบบภาษี เพื่อให้เกิดความชอบธรรมระหว่างคนรวยกับคนจน โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีก้าวหน้าคนรวย

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์กล่าวว่า การจัดระบบสวัสดิการต้องคิดบนฐานของความคิดที่มองคนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ทุน เพราะหากเอาทุนเป็นตัวตั้งจะเป็นการขัดขวางกระบวนการสะสมทุน

อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์เห็นว่า รายได้ในการสร้างรัฐสวัสดิการต้องมาจากการเก็บภาษีก้าวหน้า

[พจนานุกรมที่ผมอ้างไว้บรรทัดแรกของบทความนี้ก็บอกว่า “รัฐสวัสดิการจะมีการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากรัฐ โดยจัดให้มีการกระจายรายได้ด้วยการเก็บภาษีรายได้อัตราก้าวหน้าสูง”]

จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว. กทม. คณะอนุกรรมการวุฒิสภา ที่ศึกษาเรื่องหลักประกันทางสังคม ได้กล่าวว่า

"เรายังอยู่ในโลกที่มองการแก้ปัญหาทางสังคมเป็นลักษณะการช่วยคนที่เป็นปัจเจก เป็นรายคนไป มากกว่าเป็นระบบ แล้วเรายังมองว่า รัฐสวัสดิการเหมือนเป็นความเมตตาที่สังคมมีต่อคน มากกว่าเป็นเรื่องหน้าที่ของรัฐที่จะต้องประกันให้ทุกคน ให้การแบ่งปันทรัพยากรของประเทศนั้นมีความยุติธรรม และรัฐมีหน้าที่ดูแลให้ทุกคนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ ผมว่าสิ่งนี้ยังเป็นเรื่องที่คนยังมองไม่เป็นเอกภาพ เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามผลักดัน”

ข้อความที่อาจารย์จอนพูด (ซึ่งผมเห็นว่าเป็นจุดเด่น) คือ “ส่วนรูปแบบของรัฐสวัสดิการ ที่ต้องสร้างกลไกเพื่อให้เกิดการปฏิบัติคือ การประกันการว่างงาน โดยต้องเริ่มที่การปฏิรูปที่ดิน”

สำหรับผมแล้วการปฏิรูปที่ดินเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่สามารถทำได้ดีโดยไม่ต้องปฏิรูปกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือจัดสรรที่ดินให้คนจนให้เป็นภาระเพิ่มขึ้นแก่รัฐและเพิ่มโอกาสคอร์รัปชันแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอเพียงปฏิรูปภาษี โดยค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดินพร้อมกันไปกับการเลิกภาษีอื่นๆ ทดแทนกัน ก็จะเป็นการเพิ่มเสรีภาพและความยุติธรรมให้แก่ราษฎรได้อย่างดี และทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกันโดยเท่าเทียม คือเก็บภาษีที่ดินมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของทุกคน ใครถือครองที่ดินก็จ่ายภาษีที่ดินมากน้อยตามแต่มูลค่าของที่ดินที่ถือครอง

ที่สำคัญ ผมเชื่อว่าระบบภาษีที่ดินที่ใช้พร้อมกับการยกเลิกภาษีอื่นๆ ตามแนวคิดของเฮนรี จอร์จจะกลับบรรเทาภาระด้านสวัสดิการที่รัฐจะต้องแบกรับลงได้มหาศาล เพราะมีคนจำนวนมากถึงกับเรียกแนวคิดของเฮนรี จอร์จว่า Economics of Abundance แทนที่ Economics of Scarcity หรือ Dismal Science แห่งยุคปัจจุบัน อุปสรรคใหญ่ของระบบภาษีที่ดินอยู่ที่ผู้มีอำนาจซึ่งต้องการรักษาประโยชน์รักษาสถานะเจ้าของที่ดินของพวกตนไว้ จุดนี้จะแก้ได้เมื่อภาคประชาชนมีความรู้เรื่องนโยบายภาษีและที่ดินดีพอ

ภาษีเงินได้แบบก้าวหน้าคือการลงโทษคนขยันและมีประสิทธิภาพ เป็นภาษีที่โดนใจพวกขี้อิจฉา ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าใครผลิตสินค้าและบริการเอามาแลกเปลี่ยนซื้อขายกับคนอื่นได้มากเพราะคนที่เขาค้าขายด้วยได้ประโยชน์ (ถ้าเสียประโยชน์เขาก็ไม่ค้าขายด้วย) อย่าใช้วิธีตีคลุมเหมาเอาว่าผู้ค้าได้กำไรมากเพราะการใช้เล่ห์เหลี่ยมทุจริตไปเสียทุกคน มีภาษิตอยู่ว่าปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว การแลกเปลี่ยนค้าขายเป็นการร่วมมือแบบแบ่งงานกันทำก่อให้เกิดการแยกกันเก่งเฉพาะด้าน มีผู้ชำนาญการในสาขาต่างๆ มากมาย เกิดความอยู่ดีกินดีและอารยธรรมความเจริญแก่ส่วนรวมด้วย รัฐบาลเองต่างหากต้องตามให้ทันในการแสวงประโยชน์ของผู้ค้าส่วนที่ไม่สุจริต

ภาษีเงินได้จากการทำงานและการลงทุนยิ่งมีอัตราสูงยิ่งทำลายความร่วมมือแบบแบ่งงานกันทำ (คือทำลายความเจริญ) และไม่ยุติธรรมเพราะเป็นการเอาจากปัจเจกชนไปให้แก่ผู้อื่น

ภาษีเงินได้เป็นหลักคิดที่ตรงข้ามกับภาษีที่ดิน เพราะที่ดินไม่ได้เกิดจากการลงแรงลงทุนผลิต และมูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุนต่างหาก ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม (ไม่ใช่เอาที่ดินมาแบ่งกันเพราะที่ดินมีมูลค่าแตกต่างกันตามตำบลที่และจะต้องแบ่งกันไม่รู้จบเพราะคนในครอบครัวมีตายมีเกิดทำให้จำนวนเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ) แต่เมื่อเราเคยชินมานานกับระบบปัจจุบัน ก็ต้องมีผ่อนสั้นผ่อนยาว ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง คือค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดิน ขณะเดียวกันก็เลิก/ลดภาษีอื่นๆ ทดแทนกัน

ก็ต้องกล่าวซ้ำถึงผลดีของการเพิ่มภาษีที่ดินและลด/เลิกภาษีอื่นๆ (เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ไปลงที่ผู้ใช้แรงงานและผู้ลงทุน) ดังนี้

1) เกิดความยุติธรรมขั้นฐานราก รัฐบาลไม่ต้องผิดศีลข้ออทินนาทานเอาจากคนหนึ่งไปให้แก่อีกคนหนึ่ง เพราะประโยชน์หรือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากเจ้าของที่ดิน แต่เกิดจากธรรมชาติและกิจกรรมของส่วนรวม

2) การเลิก/ลดภาษีเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก ซึ่งดีกว่าแบบของสหรัฐฯ ที่ทำมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ทำได้เพียงชั่วคราว มิฉะนั้นรัฐบาลจะเป็นหนี้มหาศาล เพราะไม่ได้เก็บค่าเช่าที่ดินมาชดเชย (ซึ่งการที่รัฐเก็บค่าเช่าที่ดินก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกแรงหนึ่ง)

3) ราคา/ค่าเช่าที่ดินจะลด เพราะที่ดินจะไม่ถูกเก็งกำไรเก็บกักปิดกั้นไว้ แต่จะเปิดออกเพื่อหาประโยชน์ให้คุ้มกับการเสียค่าเช่าให้รัฐ รวมทั้งให้เช่า หรือทำประโยชน์เอง หรือมิฉะนั้นก็ขายให้แก่ผู้ที่เห็นทางทำประโยชน์ การทำประโยชน์ก็มักต้องหาคนมาทำงานให้ เจ้าของที่ดินต่างคนต่างต้องทำอย่างนี้ ก็เกิดแข่งขันกันเอง การว่างงานจะลด ค่าแรงจะเพิ่ม ผลตอบแทนต่อการใช้ทุนก็เพิ่ม

4) ซ้ำแรงงานและทุนไม่ต้องเสียภาษีทางตรงจำพวกภาษีเงินได้ หรือเสียน้อย จึงมีรายได้สุทธิเพิ่ม

5) สินค้าจะมีราคาถูก เพราะการลดภาษีทางอ้อมจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรสรรพสามิต และอากรขาเข้า ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศจะสูงขึ้นด้วย และต่างชาติจะนิยมมาลงทุนและเที่ยวรวมทั้งซื้อสินค้าในไทย แบบฮ่องกง สิงคโปร์

6) เกิดความคล่องตัวในการย้ายถิ่นฐาน เพราะทั้งที่ดินและบ้านจะมีราคา/ค่าเช่าถูกลง และหาได้ง่ายขึ้น ที่ดินในเมืองจะได้รับการใช้ประโยชน์มากขึ้น มีบ้าน แฟลต คอนโดให้เช่ามากขึ้น ค่าเช่าต่ำลง ปัญหาการเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองที่ติดขัดอัดแอเสียเวลามากจะบรรเทาลง ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมหรือชุมชนแออัดในเมืองจะบรรเทาลงเช่นเดียวกัน

7) กรณีพิพาทขัดแย้งแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจะลดลงมากโดยอัตโนมัติ (ถ้ารัฐเก็บค่าเช่าที่ดินเท่าค่าเช่าศักย์ ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือเกือบศูนย์ คนเราจะเลือกซื้อหาที่ดินได้ง่าย แม้ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ เอาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ได้ แต่การซื้อขายที่ดินเองก็ราคาต่ำจนไม่น่าต้องกู้ยืมแล้ว และก็จะทำให้คนเรากู้หนี้เพื่อลงทุนอย่างอื่นเกินตัวไม่ได้ ถูกหลักเศรษฐกิจพอเพียง)

ท้ายสุด Utopia หรือสังคมอุดมคติของผมคือ สังคมที่เป็นธรรม คนส่วนใหญ่เป็นสุข หางานทำง่าย ค่าแรงกายแรงสมองสูงโดยไม่ต้องมีกฎค่าจ้างขั้นต่ำ มนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกันในสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ รับรู้สิทธิเท่าเทียมกันของผู้อื่น มีการชดเชยการดูดทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลืองไป มีการจ่ายค่าถ่ายเทของเสียออกสู่โลกทั้งในดิน น้ำ และอากาศตามควร ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ และเกิดระบบกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพสูง อันจะทำให้โลกเป็นที่อยู่ที่ทำกินได้ยั่งยืนต่อไป

(ขอเชิญดูเรื่องเกี่ยวข้องได้ที่ http://www.geocities.com/utopiathai ครับ)


ที่มา http://www.bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=109&c=1&order=numtopic

รัฐสวัสดิการทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย

“รัฐสวัสดิการ” คำพูดนี้อาจจะเป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นหูของคนไทยเท่าไรนัก บางท่านอาจจะเคยได้ยิน แต่ยังไม่เข้าใจถึงความหมายที่เป็นแก่นแท้หรือสาระของหลักการ บางท่านอาจจะรู้ความหมายบ้าง แต่ไม่รู้ว่าหลักการของแนวคิดรัฐสวัสดิการนี้หากมีการนำมาใช้แล้วจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด จะสามารถปรับนำมาใช้สังคมไทยได้หรือไม่ และหากนำมาใช้แล้วจะส่งให้ประเทศมีการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมได้มากน้อยเพียงใด บทความนี้จึงมีจุดมุ่งหมายในการที่จะทำให้ผู้อ่านบทความ ตลอดจนผู้ศึกษาหรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับแนวคิดรัฐสวัสดิการได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการที่เพิ่มมากขึ้น
โดยสรุป รัฐสวัสดิการ หมายถึง รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง ที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทหน้าที่ในการดูแลบริหารจัดการให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งรัฐจะมีหลักประกันถึงความมั่นคงในเรื่องต่างๆ ให้แก่ประชาชน อาทิ เรื่องของการศึกษา เรื่องบริการทางการแพทย์ เรื่องการมีงานทำ เป็นต้น ทั้งนี้รัฐสวัสดิการมีจุดมุ่งหมาย คือ ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคม (Equity) กับประชาชนทุกคนในประเทศนั้นๆ
(แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่ารัฐสวัสดิการจะเป็นรูปแบบการปกครองของคอมมิวนิสต์ เพราะรัฐจะไม่เข้ามาครอบครองที่ดินหรือทรัพย์สินใดๆทั้งสิ้น แต่รัฐบาลจะเข้าดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ภายใต้ระบบการเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าของประชาชนเท่านั้น)

บทบาทหน้าที่ของภาครัฐในระบบรัฐสวัสดิการ
ทำไมเป็นรัฐบาลที่ต้องจัดทำ การนำรัฐสวัสดิการมาใช้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องมีความชอบธรรม และมีการคำนึงถึง Public Spirit, Public Mind และ Public Interest อย่างมาก อีกทั้งรัฐบาลต้องมีศักยภาพเพียงพอในการจัดการสวัสดิการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และเข้าถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง การจัดสวัสดิการไม่ควรอยู่ในกำมือของเอกชนเนื่องจากเอกชนจะเน้นการแสวงหากำไรให้มากที่สุด Maximize Profit ทำให้ไม่สามารถที่จะดำเนินงาน เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนได้อย่างแท้จริง

บทบาทที่มีความสำคัญมากของภาครัฐหรือรัฐบาล คือ การที่ต้องเข้ามามีบทบาทอย่างมากในเรื่องของความรับผิดชอบต่อการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในประเทศตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งถึงแก่ความตาย รวมถึงบทบาทด้านการโยกย้ายรายได้โดยตรง (Direct income transfer) เพื่อใช้ในการจัดการระบบการศึกษา การสาธารณสุข การจัดการอาคารสงเคราะห์ ตลอดจนการจัดการระบบการทำงานในประเด็นต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง

จึงสามารถสรุปได้ว่าภาครัฐหรือรัฐบาลพึงต้องเข้ามาบทบาทหน้าที่ในระบบรัฐสวัสดิการดังต่อไปนี้
1. รัฐต้องมีหลักประกันความเท่าเทียมกันของรายได้ขั้นต่ำของแต่ละบุคคล และครอบครัว และสนับสนุนให้มีการกระจายผลผลิตจากการทำงาน
2. รัฐต้องจัดหาความมั่นคงทางสังคมให้แก่บุคคลในกรณีต่างๆ เช่น การเจ็บป่วย การชราภาพ การว่างงาน เป็นต้น
3. รัฐต้องให้สิทธิแก่พลเมืองโดยเท่าเทียมกันในอันที่จะได้รับการบริการทางสังคมอย่าง ทั่วถึงและสม่ำเสมอ
ซึ่งจากแนวคิดของรัฐสวัสดิการข้างต้นจะเห็นได้ว่าเป็นแนวความคิดที่ดีและสามารถที่จะนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติจริงได้ในทุกประเทศ ทุกสถานการณ์ เพราะรายละเอียดต่างๆ ของเงื่อนไขในการเข้ามาดูแลประชาชนของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่ว่ารัฐจะเข้ามาจัดสวัสดิการหรือให้บริการในเรื่องใดแก่ประชาชนบ้าง ส่วนการที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทในจัดการระบบรัฐสวัสดิการมากหรือน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่ผู้ปกครอง/ผู้บริหารของแต่ละประเทศการจะมีตกลงและทำความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงภาคเอกชนในประเทศของตนเอง เพราะรัฐบาลอาจมี การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือองค์กรอื่นที่มิใช่องค์กรของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ด้านการช่วยเหลือประชาชนควบคู่ไปกับการทำงานของภาครัฐด้วยก็เป็นได้

กรณีศึกษาของประเทศที่นำแนวคิดรัฐสวัสดิการมาใช้แล้วประสบความสำเร็จ
ในเบื้องต้นนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประเทศที่นำเอาทฤษฎีนี้ไปใช้แล้วได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ประเทศสวีเดน
ประเทศสวีเดนเป็นประเทศที่มีการจัดระบบรัฐสวัสดิการที่ดี และควรนำมาเป็นแบบอย่างในการศึกษา โดยผู้เขียนได้เลือกระบบการบริการทางสังคมที่มีความน่าสนใจ และนำมาเสนอ 2 ด้าน คือ ด้านการศึกษา และด้านการประกันสุขภาพ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
การศึกษา ในประเทศสวีเดนเรื่องของการศึกษาถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยรัฐจะมีการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เข้ามาเรียนฟรีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษากระทั่งจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยไม่มีการคิดค่าหน่วยกิตหรือการเรียกเก็บค่าเทอม ในส่วนของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนั้น จะมีการเรียกเก็บเฉพาะ “ค่าบำรุงองค์การนักศึกษา” เท่านั้นที่มีการบังคับ ให้นักศึกษาต้องจ่าย นอกจากนี้ระบบการศึกษาของประเทศสวีเดนยังเน้นการสอนไปที่ความเป็นไปตามระดับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย คือ เมื่อเด็กมีวุฒิภาวะพร้อมมากขึ้นจะมีสนใจเรียนที่จะเรียนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพัฒนาการทางสมองหรือสติปัญญาของเด็กในแต่ละช่วงวัยก็จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งระบบการศึกษาของประเทศสวีเดนนั้นจะให้ความสำคัญถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และนอกจากการเรียนฟรีแล้ว อุปกรณ์ในการเรียนรวมถึงอาหารกลางวันทุกอย่างก็ฟรีทั้งหมดอีกด้วย

การประกันสุขภาพ รัฐจะมีการช่วยค่ารักษาพยาบาล ช่วยค่าการรักษาสุขภาพฟัน จ่ายค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จ่ายค่ายา รวมถึงมีการชดเชยรายได้ระหว่างเจ็บป่วยด้วย แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความรัฐจะมีการช่วยจ่ายให้ทั้งหมด 100% ของค่าใช้จ่าย การที่รัฐเข้ามาช่วยนั้นจะมีเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกฎหมายด้วย เช่น การรักษาฟัน กรณีผู้มีอายุต่ำกว่า 17 ปีรักษาฟรีทั้งหมด ส่วนผู้ที่อายุเกิน 17 ปี ต้องมีการจ่ายค่ารักษาส่วนหนึ่ง คือ ถ้ารักษาไม่เกิน 1,000 โครนเนอร์ รัฐจะจ่าย 50% แต่ถ้าเกิน 1,000 โครนเนอร์ รัฐจ่ายให้ 75% ซึ่งอัตราการคิดเงินนี้รัฐบาลจะกำหนดไว้อย่างชัดเจน แพทย์จะคิดเงินเกินกว่าที่กำหนดไม่ได้ แต่อาจคิดต่ำกว่าได้ เป็นต้น

ซึ่งนอกจากเรื่องการศึกษาและการประกันสุขภาพแล้ว รัฐยังมีการช่วยเหลือเรื่องเงินบำนาญคนชรา คนพิการ แม่หม้าย มีการจ่ายเงินชดเชยการว่างงาน มีบริการแก่ครอบครัว คือ รัฐบาลสวีเดนจะให้บริการฟรีทุกอย่างแก่สตรีที่ตั้งครรภ์ และเมื่อคลอดบุตรออกมาแล้วพ่อแม่จะได้รับเงิน ส่วนบุตรจะได้รับค่าเลี้ยงดูจนถึงอายุ 16 ปีบริบูรณ์ เมื่อบุตรเข้าเรียนก็จะได้รับการเรียน การรักษาพยาบาล การรักษาฟันฟรีจนถึงอายุ 16 ปี ดังที่ได้กว่าไปแล้ว

แต่จากการที่รัฐต้องใช้เงินในการจ่ายค่าสวัสดิการจำนวนมาก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการเก็บภาษีมากตามไปด้วย รัฐบาลสวีเดนจะให้ระบบอัตราภาษีแบบก้าวหน้า คือ ประชาชนคนใดมีรายได้มากก็จะถูกเก็บภาษีมาก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าการให้บริการแบบนี้จะไม่เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากสวีเดนมีการเก็บภาษีเป็นหลัก จึงทำให้จำนวนผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านมีสูงมาก และก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมเกี่ยวกับตัวเด็กตามมากมาย เนื่องจากเด็กจะไม่ได้รับการดูแลจากครอบครัวเท่าที่ควร จึงเท่ากับเป็นการทำลายระบบครอบครัวไปโดยไม่รู้ตัวด้วย แต่หากมองโดยภาพรวมแล้วนั้นสามารถสรุปได้ว่าการดูแลจากรัฐของประเทศสวีเดนนี้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก

บทวิเคราะห์ การนำแนวคิดรัฐสวัสดิการมาใช้ในประเทศไทย
จากแนวคิด ทฤษฎีและกรณีตัวอย่างที่กล่าวอ้างมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าแนวคิดของรัฐสวัสดิการดังกล่าวถึงแม้จะมีข้อดีแต่ก็ยังมีข้อด้อยหรือมีข้อบกพร่องอยู่บ้างในตัวของ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ที่ว่าผู้ปกครองของประเทศที่นำเอาแนวคิดนี้ไปใช้จะสามารถบริหารจัดการในรูปแบบรัฐสวัสดิการได้อย่างดีแค่ไหนและจะสามารถป้องกันแก้ไขบรรเทาปัญหาที่มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ได้อย่างไร เพราะโดยธรรมชาติแล้วทุกอย่างก็ย่อมเปรียบเสมือนกับเหรียญที่มีสองด้าน คือ เมื่อมีด้านหนึ่งที่ดีก็ย่อมมีอีกด้านหนึ่งที่ตรงข้ามอยู่เสมอ ทฤษฎีก็เช่นเดียวกันเมื่อมีด้านที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็ย่อมมีด้านที่เป็นโทษส่งผลให้เกิดปัญหาแก่สังคมเช่นเดียวกัน แต่หากพิจารณาในหลักการโดยรวมนั้นผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าการที่จะนำทฤษฎีและแนวคิดนี้มาปรับใช้กับสังคมไทยนั้น น่าจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าการเกิดโทษและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งหากภาครัฐจะมีการนำเอาแนวคิดของรัฐสวัสดิการมาใช้ เนื่องจากรัฐบาลสามารถที่จะนำแนวคิดของรัฐสวัสดิการนี้มาประยุกต์และปรับใช้ได้ทันที เพราะปัจจุบันรัฐก็มีการจัดเก็บภาษีจากภาคประชาชนอยู่แล้ว อีกทั้งรัฐยังมีกองทุนประกันสังคมและกองทุนต่างๆ อีกมากมาย ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสวัสดิการของพนักงาน ข้าราชการในประเทศ อีกทั้งรัฐบาลต้องทำการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีให้เป็นระบบภาษีแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อให้เกิดความชอบธรรมระหว่างคนรวยกับคนจน แต่ทั้งนี้ก่อนที่รัฐบาลจะมีการนำแนวคิดนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงนั้น รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการอธิบายชี้แจงในส่วนของเนื้อหา เงื่อนไขและวิธีการปฏิบัติให้กับประชาชนทุกระดับได้เข้าใจถึงผลดีผลเสียของการนำนโยบายนี้มาใช้ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสพิจารณาเลือกแนวทางของตนเอง และควรที่จะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศว่าต้องการนโยบายรัฐสวัสดิการนี้หรือไม่และถ้าต้องการ จะต้องการมากน้อยในสัดส่วนเท่าใด ทั้งนี้รัฐต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นและส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน รวมถึงระบุถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากที่มีการนำนโยบายนี้มาใช้จริง เพื่อให้ผู้ที่เห็นด้วยร่วมกันคิดหาทางออกของปัญหา เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาหรืออย่างน้อยก็เป็นการบรรเทาปัญหาให้เบาบางที่สุด เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้การที่จะทำให้แนวคิดดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อประเทศของเราอย่างแท้จริงนั้น รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ในสังคมไทยและในวงราชการออกไปให้หมดอย่างแท้จริง เพราะแนวคิดนี้จะต้องใช้และมีความเกี่ยวข้องงบประมาณจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่การเก็บภาษีที่ต้องมีมากขึ้น จนไปถึงการเบิกจ่ายเงินค่าสวัสดิการต่างๆ ที่ต้องมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงเป็นช่องทางที่จะก่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบได้โดยง่ายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เขียนมีความเห็นว่าหลักการที่รัฐบาลควรนำมาปรับควบคู่ไปการการดำเนินงานตามแนวคิดนี้คือ หลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดความถูกต้องโปร่งใสและสามารถที่จะตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน โดยรัฐบาลจะต้องมีการสร้างสำนึกทางสังคมให้เกิดขึ้นกับข้าราชการและประชาชนทุกคนควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายด้วย รวมทั้งต้องทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงหน้าที่ความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบของตนอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายมากที่สุด

สรุป
ผู้เขียนมีความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งหากจะมีการนำหลักการของรัฐสวัสดิการนี้มาปรับใช้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในการบริหารประเทศ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาของระบบทุนนิยมที่ได้ส่งผลให้เกิดความเลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรงดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าระบบรัฐสวัสดิการนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา http://www.bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=194&c=1&order=numtopic

สวัสดิการขั้นพื้นฐาน บนเส้นทางสู่รัฐสวัสดิการ

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มติชน 6 ธ.ค. 50 - ย้อนไปสักสิบปีก่อน คำว่ารัฐสวัสดิการ ไม่ค่อยมีใครสักกี่คนพูดถึง "คนไทยไม่ให้ความสำคัญ" แต่ปัจจุบันคนไทยมีความสนใจในหัวข้อรัฐสวัสดิการและสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

ในการประชุมวิชาการประจำปีของทีดีอาร์โอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) เมื่อวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2550 ได้ยกหัวข้อรัฐสวัสดิการ และสวัสดิการขั้นพื้นฐานเป็นประเด็น เพราะว่ามีนัยสำคัญต่อภาครัฐ ต่อการคลังของประเทศ และต่อนโยบายของพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงแบบประชานิยม ก่อนจะเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม

ขอนำบรรยากาศการประชุมและหัวข้อการอภิปรายมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ หัวข้อสัมมนาตั้งชื่อไว้หรูหราว่า "จะแก้ปัญหาความยากจนกันอย่างไร? แข่งขัน แจกจ่าย หรือสวัสดิการ?"

มีข้อคิดและหนทางเลือกของนโยบายหลายทาง คำว่าแข่งขันคงจะหมายถึงการอิงระบบตลาดแบบแข่งขันเสรีเพื่อช่วยคนจน ส่วนแจกจ่ายน่าจะหมายถึงนโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงในขณะนี้

ส่วนสวัสดิการนั้นหมายถึงการจัดให้มีสวัสดิการสังคมในรูปใดรูปหนึ่ง

"รัฐสวัสดิการ" (welfare state) เป็นตัวแบบหนึ่งที่มีตัวอย่างในแถบยุโรปหลายประเทศ หรือว่า "สวัสดิการขั้นพื้นฐาน" ให้กับประชาชนที่ขาดแคลนยากไร้และโชคไม่ดีเหมือนคนอื่นๆ เช่น พิการทางร่างกายหรือจิตใจ

บทความของ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ตั้งโจทย์การวิจัยว่า ถ้าหากรัฐไทยตั้งเป้าหมายทำให้เป็นรัฐสวัสดิการตามแบบกลุ่มประเทศโออีซีดี รายจ่ายภาครัฐก็จะสูง-ขั้นต่ำๆ ก็จะต้องจ่ายงบประมาณประมาณ 4 แสนล้านบาทสำหรับรายจ่ายสวัสดิการ (หลายประเภทรวมกัน)

รายจ่ายนี้ในท้ายที่สุดก็มาจากภาษีอากร (ไม่ใช่ว่ารัฐบาลเป็นคนจ่ายสตางค์-เพราะความจริง "รัฐบาลไม่มีสตางค์" ทุกบาททุกสตางค์ต้องล้วงกระเป๋าของผู้เสียภาษีทั้งสิ้น ตามคำบรรยายของท่านอาจารย์ ดร.อัมมาร สยามวาลา ประธานทีดีอาร์ไอ)

แต่ถ้าหากไม่ตั้งเป้าหมายทะเยอทะยานมากนัก รัฐให้การช่วยเหลือแบบสงเคราะห์สำหรับคนจนซึ่งมีจำนวนลดลงจาก 9 ล้านคนเมื่อห้าปีก่อนถึงในปัจจุบันจำนวน 6 ล้านคน (targeting for the poors) ก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไม่มากนัก เป็นหลักหลายพันล้านบาท (ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่จะจ่าย สมมุติว่า 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน ประมาณว่าเท่ากับเส้นยากจน ก็จะตกเป็นเงิน 6-7 พันล้านบาทต่อเดือน)

การวิจัยของ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ยังได้รวบรวมข้อมูลรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมตามสภาพเป็นจริง (ปี 2549) รวมเบี้ยผู้สูงอายุ ผู้พิการ รายจ่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เงินสงเคราะห์ต่างๆ รวมกันเท่ากับ 180,038 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.3 ของจีดีพี (GDP) ซึ่งค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับมาตรฐานของประเทศอื่น

แปลเป็นคำพูดได้ว่า รัฐไทยยังห่างไกลจากความเป็นรัฐสวัสดิการมากนัก

งานวิจัยของ ดร.วรวรรณ ยังชี้ความจริงที่ว่า สวัสดิการให้ผู้สูงอายุนั้น ส่วนใหญ่ให้กับข้าราชการเกษียณอายุ (เป็นเงิน 60,484 ล้านบาท เปรียบเทียบกับสวัสดิการให้ผู้สูงอายุทั้งหมดมูลค่า 68,635 ล้านบาท) ที่จุดนี้มีข้ออภิปรายเพิ่มเติมว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้นดูเหมือนว่ามาก แต่ความจริงนั้นเงินช่วยเหลือส่วนใหญ่ตกกับ "ข้าราชการบำนาญ" ส่วนน้อยถึงมือประชาชน สะท้อนถึงอภิสิทธิ์ชนของชนชั้นข้าราชการ ซึ่งเป็นประเด็นที่สามารถจะอภิปรายกันได้ว่า เป็นธรรมหรือไม่?

ถ้าหากประชาชนขอใช้สิทธิประชาชนบ้าง (ไม่จำเป็นต้องเท่ากับเงินบำนาญของราชการ) จะได้หรือไม่

ประชาชนมีสิทธิไหม

ในการประชุมครั้งนี้ได้แจกแฟ้มบทความประกอบด้วยบทความดีๆ เป็นเพชรเม็ดงามของการวิจัยหลายชิ้นที่น่าอ่าน ได้ความรู้ ให้ข้อมูลที่สะท้อนความลึกซึ้ง จึงเชิญชวนให้ผู้สนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่สนใจนโยบายสาธารณะไม่ควรจะพลาด

ในงานนี้ยังได้เรียนเชิญปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น ครูชบ ยอดแก้ว จากสงขลา คุณสามารถ พุทธา จากลำปาง คุณสงกรานต์ จากวัดโพธิ์ทอง จันทบุรี ซึ่งล้วนเป็นผู้นำชุมชน เป็นผู้บริหารกองทุนสัจจะออมทรัพย์และสวัสดิการภาคประชาชนจำนวนหลายคน

(ในจำนวนนี้บางท่านผมรู้จักและได้เคยไปเยี่ยมชมกิจการ ขอไปเป็นนักเรียนเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการของกลุ่มและเกิดความประทับใจไม่รู้ลืม)

โดยภาพรวม ผู้เขียนชอบและประทับใจการจัดประชุมวิชาการประจำปี 2550 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยมาก แต่ถ้าถามว่ามีอะไรไม่ชอบหรือไม่ หรือรู้สึกว่าไม่จุใจก็มี

ประเด็นที่รู้สึกว่าขาดแคลนหรือมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน คือนักวิจัยและนักวิชาการมองระบบสวัสดิการในเรื่องของการจ่ายเงินสวัสดิการของรัฐ ณ ปลายทาง คือให้กับผู้สูงอายุ ให้คนพิการ ให้คนจน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งเป็น ex post risk management แต่เสนอบทวิเคราะห์ที่เสนอหลักประกันความเสี่ยงก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ex ante risk management ยังน้อยไปหน่อย

และใช้มุมมองแบบ "บนลงล่าง" คือรัฐและนักวิชาการมองลงไปถึงประชาชนและกลุ่มต่างๆ อย่างไร

ณ จุดนี้ขอถือโอกาส "แจมดนตรี" ด้วย กล่าวคือ หยิบยกงานวิจัยนโยบายสาธารณะ "การคลังเพื่อสังคมและสุขภาพภาวะ" ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการ ภายใต้ศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ถ้าหากใช้วิธีวิเคราะห์กลับทางกัน คือ มองจากล่างขึ้นบน โดยศึกษาการออมและการจัดสวัสดิการของภาคประชาชนเป็นตัวตั้ง ศึกษาจุดแข็งและความสำเร็จของกองทุนที่สามารถระดมเงินออมได้เป็นเงินนับสิบนับร้อยล้านบาท รวมทั้งทั่วประเทศอาจจะเป็นหลักหมื่นล้านบาท รวมกองทุนบำนาญตามกลุ่มอาชีพในภาคเมืองซึ่งประกอบแรงงานรับจ้าง รับจ้างทำของ

ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะวิเคราะห์ "จุดอ่อน" ของกองทุนเหล่านี้ ซึ่งอาจจะเปราะบาง ไม่มีการบันทึกข้อมูลอย่างดีพอ ไม่สามารถจะกระจายเงินทุนและหาผลตอบแทนที่สูงนัก ยิ่งไปกว่านั้นมีความเสี่ยงที่อาจจะล้มครืนก็ได้ในอนาคต

(มีการวิเคราะห์ข้อมูลของ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา และของผู้เขียนที่เก็บข้อมูลสมาชิกของกองทุนบางพื้นที่ในต่างจังหวัด ซึ่งพบปัญหาต่างๆ เช่น "ความไม่สมดุลระหว่างสมาชิกวัยทำงาน-กับวัยสูงอายุ และวัยใกล้แก่" ขณะนี้ไม่เป็นปัญหา-แต่อนาคตค่อนข้างแน่ใจว่าจะมีปัญหาหรือไม่ ไม่เชื่อลองทดสอบด้วยตัวของท่านเอง ปัญหาของความไม่สมดุลของ "เงินออมสัจจะวันละบาท" กับผลตอบแทนที่เป็นสัญญาว่าสมาชิกจะได้รับในอนาคต แต่ที่ไม่เป็นปัญหาในวันนี้ เพราะว่าสมาชิกส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงาน แต่เมื่อวันหนึ่งเป็น "สว" (สูงวัย) ก็จะเกิดการถ่ายโอนจากคนทำงานให้ "สว" ภายใต้ระบบนี้เรียกว่า "เก็บเงินไปจ่ายไป" (Pay-as-you-go) ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะไม่ยั่งยืน ล้มได้ง่ายถ้าหากว่าเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ)

ในทางกลับกันเรา (อย่างน้อยก็กลุ่มเพื่อนผู้เขียนหลายคน รวมทั้ง ดร.วรเวศม์) ต้องการให้กองทุนสัจจะออมทรัพย์และสวัสดิการภาคประชาชน มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน มีสมาชิกทุกวัย รวมวัยเด็ก-วัยทำงาน-วัยใกล้แก่-และ "สว" มี

ผลงานวิจัยที่ได้นำเสนอไปแล้วในที่ประชุมของนักเศรษฐศาสตร์ไทยประจำปี 2550 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2550 ที่วิเคราะห์ว่ากองทุนภาคประชาชนอาจจะเผชิญปัญหาไม่ยั่งยืนทางการเงิน เมื่อสมาชิกเข้าสู่วัยสูงอายุ (เกิน 60 ปีและเริ่มจะ "กินบำนาญ" ของกองทุน) มีข้อเสนอเชิงนโยบายการคลังที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างจริงจัง ใช้ฐานข้อมูลครัวเรือนและข้อสมมุติบางประการ พร้อมกันนี้มีข้อเสนอว่าภาครัฐไทย สามารถจะช่วย "เพิ่มพลัง" และ "กระตุ้นการออมภาคบังคับ" ในกลุ่มคนที่ไม่ใช่ภาคทางการคือเกษตรกร แรงงานรับจ้าง รับจ้างทำของ ทั้งในเขตเมืองและชนบท

ทางที่หนึ่ง คือ การออมพันธมิตร (partnership-ผู้สนใจโปรดอ่านหนังสือของศาสตราจารย์ Julian le Grand) หมายถึง ภาครัฐช่วยเติมการออมให้ประชาชน (บัญชีที่สอง) ตามผลคำนวณอัตรา 1 ต่อ 0.8 ก็พอ ชาวบ้านออมหนึ่งบาท รัฐช่วยเหลือ 80 สตางค์ (ความจริงเงินนี้ท้ายที่สุดก็มาจากภาษีอากร)

ทางที่สอง ถ้าหากรัฐจะช่วยกลุ่มออมทรัพย์ ออกพันธบัตรรุ่น "สัจจะออมทรัพย์พัฒนา" ที่ให้ดอกเบี้ยสูง (สูงกว่าอัตราตลาด) หมายเหตุ พันธบัตรนี้ขายให้เฉพาะกลุ่ม ไม่เปิดขายทั่วไป เพื่อเพิ่มช่องทางลงทุนให้กับกลุ่มกองทุนสัจจะฯมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น นี่ก็เป็นอีกมาตรการการคลังอีกด้านหนึ่งที่คิดแบบ "กลับทิศ" กัน ดังนั้น กองทุนแทนที่จะได้รับผลตอบแทน 3-4% อาจจะได้รับผลตอบแทน 7-8%

จริงอยู่รัฐขาดทุนเล็กน้อย แต่ว่ากำไรเกิดขึ้นกับกลุ่มออมทรัพย์และสวัสดิการภาคประชาชน เป็นกำไรให้ประชาชน ถือเสียว่าเป็นค่าจ้างรัฐจ่ายให้กับ "ระบบสวัสดิการมือที่สาม" (ซึ่งไม่ใช่เป็นแบบธุรกิจเอกชน และไม่ใช่เป็นแบบราชการ) ทางที่สามกองทุนเหล่านี้อย่าไปทึกทักว่าเป็นของรัฐ เพราะเขาก่อร่างสร้างตัวมาก็ดีแล้ว รัฐช่วยเติมพลังให้โดยใช้ภาษีอากร

สวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นสิ่งจำเป็น ผู้เขียนไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้นรัฐสวัสดิการ และก็ไม่อยากจะเห็นการบิดเบือนเชิงนโยบายว่า กำลังสร้างยักษ์ใหญ่ที่ชื่อว่า "รัฐสวัสดิการ" พร้อมกับหาจุดตำหนิว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้บ้านเมืองทำให้ฐานะการคลังล่มจม คนรวยจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ความจริง ก็คือ ไทยยังห่างไกลจากความเป็นรัฐสวัสดิการมากนัก เปรียบเป็นตัวเลขว่า 100% เป็นรัฐสวัสดิการ

ระยะทางยังยาวไกล ในระยะ 100 กิโลเมตรที่จะก้าวไปนี้ ขณะนี้ของประเทศไทยยังก้าวไปไม่ถึงหลักกิโลเมตรที่ 10 เลย

ไม่ใช่เป็นความผิดของประชาชนหรอกที่เรียกร้องและต้องการให้มีสวัสดิการสังคมเพื่อประชาชน เพราะว่าระบบดั้งเดิมของเราไม่เป็นธรรม เรามีแต่สวัสดิการข้าราชการ มีสวัสดิการสำหรับแรงงานในประกันสังคม ถ้าจะมีข้อเสนอให้มีสวัสดิการพื้นฐานสำหรับประชาชน มันจะผิดตรงไหน

และก็ไม่ใช่เป็นความผิดของพรรคการเมืองที่จะทำนโยบายประชานิยม เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะทำและเป็นการเมืองแบบใหม่ที่ต้อง "ชูนโยบาย" ให้สัญญาประชาคมว่าเลือกไปแล้ว พรรคการเมืองจะไปทำงานผลักดันนโยบายสาธารณะให้ประชาชน

เพียงแต่เราควรระมัดระวังมิให้เกิดปัญหาวิกฤตการคลัง ไม่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว หมายถึงพรรคการเมืองในยุคใหม่ต้องมีข้อมูล ควรมีนักวิจัยทำงานวิเคราะห์นโยบายสาธารณะอย่างเอาจริงเอาจัง รู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหาของประชาชน เพราะว่ามาจากการเลือกตั้ง (ถ้ามาจากการปฏิวัติรัฐประหารก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในแบบหลังนี้ รู้สึกชิงชังมาโดยตลอด ไม่เคยมีสักวินาทีเดียวที่เห็นด้วยกับรัฐบาลปฏิวัติ)

สังคมไทยเรายังคงจะไม่เดินไปถึงเส้นทางรัฐสวัสดิการหรอก

แต่ก็เห็นด้วยว่าถึงเวลาที่จะต้องยกเครื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานกันอย่างขนานใหญ่ ไม่สามารถจะปล่อยให้กำหนดข้าราชการที่ทำงานแบบ "เช้าชามเย็นชาม" อย่างแน่นอน พรรคการเมืองและฝ่ายวิชาการต้องช่วยคิดเรื่องสวัสดิการสังคมด้วย

จำข้อเขียนของ ศ.ยุพา วงศ์ไชย ได้ในหนังสือ นโยบายสวัสดิการสังคม ตีพิมพ์ในปี 2545 ความตอนหนึ่งว่า "ในระบบสวัสดิการสังคมของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เรามีปัญหาที่งานเราไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ต้องการ เมื่อเทียบกับระบบสวัสดิการสังคมของประเทศอื่น ทั้งที่คนของเราก็มีศักยภาพเช่นเดียวกับคนของประเทศอื่น มีคนที่ทำงานด้านนโยบายไม่มากพอ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมากและการสังคมสงเคราะห์ในประเทศที่มุ่งเน้นบทบาทในการเป็นผู้ให้บริการเป็นส่วนใหญ่ และละเลยเรื่องอื่นๆ ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาตนเองและวิชาชีพของตน" (หน้า 31)

ศ.ยุพา วงศ์ไชย ทำงานด้านสวัสดิการสังคมมานานในยุคที่คนไม่ค่อยสนใจ จนกระทั่งท่านเกษียณจากราชการ ท่านอาจจะมีความรู้สึกท้อแท้ใจอยู่บ้าง

หวังว่าในช่วงเกษียณจากราชการ ศ.ยุพา วงศ์ไชย คงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสวัสดิการสังคมในทางที่ดีขึ้น เกิดความรู้สึกว่ามีกำลังใจ สิ่งที่เคยต่อสู้เรียกร้องในยุคที่ไม่มีใครฟัง เริ่มจะมีคนฟังและให้ความสนใจกันมากขึ้น

ความจริง ยังมีแนวคิดรัฐสวัสดิการที่เป็นเพชรเม็ดงามอีกชิ้นหนึ่ง คือ ข้อเขียน "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อ่านเมื่อใดก็ประจำใจ อมตะจริงๆ

แรงงานร่วมขบวนนักศึกษาชุมนุมหน้ารัฐสภา หนุนรัฐสวัสดิการ

วันที่ 1 พ.ค.52 ครบรอบวันแรงงานสากล

กลุ่มสหภาพแรงงานย่างรังสิตและใกล้เคียง ร่วมกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยธรรมศาสตร์ กลุ่มเวียงผาสัมมนาราม และกลุ่มประกายไฟ กว่า 200 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องใน “วันกรรมกรสากล” โดยเมื่อเวลา 10.00 น.มีการตั้งขบวนบนถนนสุโขทัย บริเวณหน้าสวนสัตว์เขาดิน จากนั้นได้เดินขบวนไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภา

ในการชุมนุมได้เชิญชวนให้ประชาชนและคนทำงานทั่วไป ร่วมรณรงค์ให้รัฐบาลดำเนินการใน 3 ข้อ คือ 1.ให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ 2.ให้รัฐบาลรัฐบาลยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรง และควบคุมดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสิทธิแรงงานในทุกมิติ และ 3.รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค เพื่อประชาชนอย่างเหมาะสม

ส่วนกิจกรรม มีการปราศรัยเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ ของผู้เข้าร่วม มีการแสดงดนตรี การแสดงละครสะท้อนชีวิตของคนงาน และในตอนท้ายได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า กลุ่มสหภาพแรงงานย่างรังสิตและใกล้เคียง ร่วมกับองค์กรเพื่อนมิตรทุกองค์กร ขอสัญญาร่วมกันว่าจะร่วมกิจกรรมรณรงค์ร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างพลังในการเรียกร้องต่อรัฐร่วมกัน และจะมีการมาพบกันอีกครั้งที่ตรงนี้

ด้านกลุ่มประกายไฟมีแถลงการณ์เสนอรัฐสวัสดิการคือทางออกในวิกฤติ โดยแรงงานต้องเรียกร้องรัฐสวัสดิการ สังคมใหม่ที่สะท้อนความเสมอภาค และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ รัฐสวัสดิการคือสังคมที่ให้หลักประกันในทุกด้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยจะนำสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย เพิ่มอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ตัวอักษรตามรัฐธรรมนูญ โดยงบประมาณรัฐสวัสดิการต้องมาจากการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า ดังนั้นรัฐสวัสดิการจึงไม่ใช่การร้องขอ หรือความใจดีของชนชั้นปกครอง แต่ต้องมาจากการต่อสู้ ซึ่งจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของตนเองเพื่อชูรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง

ที่มาจาก : ประชาไท

ดูเพิ่มเติมได้ที่
แรงงานร่วมขบวนนักศึกษาชุมนุมหน้ารัฐสภา หนุนรัฐสวัสดิการ

VDO Clip "Fight for a Thai Welfare State"




โดย Giles53 September 30, 2008 ที่มา http://www.youtube.com/watch?v=PaiwmboiE6M