วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รัฐสวัสดิการทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย

“รัฐสวัสดิการ” คำพูดนี้อาจจะเป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นหูของคนไทยเท่าไรนัก บางท่านอาจจะเคยได้ยิน แต่ยังไม่เข้าใจถึงความหมายที่เป็นแก่นแท้หรือสาระของหลักการ บางท่านอาจจะรู้ความหมายบ้าง แต่ไม่รู้ว่าหลักการของแนวคิดรัฐสวัสดิการนี้หากมีการนำมาใช้แล้วจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด จะสามารถปรับนำมาใช้สังคมไทยได้หรือไม่ และหากนำมาใช้แล้วจะส่งให้ประเทศมีการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมได้มากน้อยเพียงใด บทความนี้จึงมีจุดมุ่งหมายในการที่จะทำให้ผู้อ่านบทความ ตลอดจนผู้ศึกษาหรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับแนวคิดรัฐสวัสดิการได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการที่เพิ่มมากขึ้น
โดยสรุป รัฐสวัสดิการ หมายถึง รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง ที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทหน้าที่ในการดูแลบริหารจัดการให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งรัฐจะมีหลักประกันถึงความมั่นคงในเรื่องต่างๆ ให้แก่ประชาชน อาทิ เรื่องของการศึกษา เรื่องบริการทางการแพทย์ เรื่องการมีงานทำ เป็นต้น ทั้งนี้รัฐสวัสดิการมีจุดมุ่งหมาย คือ ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคม (Equity) กับประชาชนทุกคนในประเทศนั้นๆ
(แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่ารัฐสวัสดิการจะเป็นรูปแบบการปกครองของคอมมิวนิสต์ เพราะรัฐจะไม่เข้ามาครอบครองที่ดินหรือทรัพย์สินใดๆทั้งสิ้น แต่รัฐบาลจะเข้าดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ภายใต้ระบบการเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าของประชาชนเท่านั้น)

บทบาทหน้าที่ของภาครัฐในระบบรัฐสวัสดิการ
ทำไมเป็นรัฐบาลที่ต้องจัดทำ การนำรัฐสวัสดิการมาใช้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องมีความชอบธรรม และมีการคำนึงถึง Public Spirit, Public Mind และ Public Interest อย่างมาก อีกทั้งรัฐบาลต้องมีศักยภาพเพียงพอในการจัดการสวัสดิการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และเข้าถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง การจัดสวัสดิการไม่ควรอยู่ในกำมือของเอกชนเนื่องจากเอกชนจะเน้นการแสวงหากำไรให้มากที่สุด Maximize Profit ทำให้ไม่สามารถที่จะดำเนินงาน เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนได้อย่างแท้จริง

บทบาทที่มีความสำคัญมากของภาครัฐหรือรัฐบาล คือ การที่ต้องเข้ามามีบทบาทอย่างมากในเรื่องของความรับผิดชอบต่อการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในประเทศตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งถึงแก่ความตาย รวมถึงบทบาทด้านการโยกย้ายรายได้โดยตรง (Direct income transfer) เพื่อใช้ในการจัดการระบบการศึกษา การสาธารณสุข การจัดการอาคารสงเคราะห์ ตลอดจนการจัดการระบบการทำงานในประเด็นต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง

จึงสามารถสรุปได้ว่าภาครัฐหรือรัฐบาลพึงต้องเข้ามาบทบาทหน้าที่ในระบบรัฐสวัสดิการดังต่อไปนี้
1. รัฐต้องมีหลักประกันความเท่าเทียมกันของรายได้ขั้นต่ำของแต่ละบุคคล และครอบครัว และสนับสนุนให้มีการกระจายผลผลิตจากการทำงาน
2. รัฐต้องจัดหาความมั่นคงทางสังคมให้แก่บุคคลในกรณีต่างๆ เช่น การเจ็บป่วย การชราภาพ การว่างงาน เป็นต้น
3. รัฐต้องให้สิทธิแก่พลเมืองโดยเท่าเทียมกันในอันที่จะได้รับการบริการทางสังคมอย่าง ทั่วถึงและสม่ำเสมอ
ซึ่งจากแนวคิดของรัฐสวัสดิการข้างต้นจะเห็นได้ว่าเป็นแนวความคิดที่ดีและสามารถที่จะนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติจริงได้ในทุกประเทศ ทุกสถานการณ์ เพราะรายละเอียดต่างๆ ของเงื่อนไขในการเข้ามาดูแลประชาชนของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่ว่ารัฐจะเข้ามาจัดสวัสดิการหรือให้บริการในเรื่องใดแก่ประชาชนบ้าง ส่วนการที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทในจัดการระบบรัฐสวัสดิการมากหรือน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่ผู้ปกครอง/ผู้บริหารของแต่ละประเทศการจะมีตกลงและทำความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงภาคเอกชนในประเทศของตนเอง เพราะรัฐบาลอาจมี การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือองค์กรอื่นที่มิใช่องค์กรของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ด้านการช่วยเหลือประชาชนควบคู่ไปกับการทำงานของภาครัฐด้วยก็เป็นได้

กรณีศึกษาของประเทศที่นำแนวคิดรัฐสวัสดิการมาใช้แล้วประสบความสำเร็จ
ในเบื้องต้นนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประเทศที่นำเอาทฤษฎีนี้ไปใช้แล้วได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ประเทศสวีเดน
ประเทศสวีเดนเป็นประเทศที่มีการจัดระบบรัฐสวัสดิการที่ดี และควรนำมาเป็นแบบอย่างในการศึกษา โดยผู้เขียนได้เลือกระบบการบริการทางสังคมที่มีความน่าสนใจ และนำมาเสนอ 2 ด้าน คือ ด้านการศึกษา และด้านการประกันสุขภาพ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
การศึกษา ในประเทศสวีเดนเรื่องของการศึกษาถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยรัฐจะมีการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เข้ามาเรียนฟรีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษากระทั่งจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยไม่มีการคิดค่าหน่วยกิตหรือการเรียกเก็บค่าเทอม ในส่วนของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนั้น จะมีการเรียกเก็บเฉพาะ “ค่าบำรุงองค์การนักศึกษา” เท่านั้นที่มีการบังคับ ให้นักศึกษาต้องจ่าย นอกจากนี้ระบบการศึกษาของประเทศสวีเดนยังเน้นการสอนไปที่ความเป็นไปตามระดับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย คือ เมื่อเด็กมีวุฒิภาวะพร้อมมากขึ้นจะมีสนใจเรียนที่จะเรียนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพัฒนาการทางสมองหรือสติปัญญาของเด็กในแต่ละช่วงวัยก็จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งระบบการศึกษาของประเทศสวีเดนนั้นจะให้ความสำคัญถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และนอกจากการเรียนฟรีแล้ว อุปกรณ์ในการเรียนรวมถึงอาหารกลางวันทุกอย่างก็ฟรีทั้งหมดอีกด้วย

การประกันสุขภาพ รัฐจะมีการช่วยค่ารักษาพยาบาล ช่วยค่าการรักษาสุขภาพฟัน จ่ายค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จ่ายค่ายา รวมถึงมีการชดเชยรายได้ระหว่างเจ็บป่วยด้วย แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความรัฐจะมีการช่วยจ่ายให้ทั้งหมด 100% ของค่าใช้จ่าย การที่รัฐเข้ามาช่วยนั้นจะมีเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกฎหมายด้วย เช่น การรักษาฟัน กรณีผู้มีอายุต่ำกว่า 17 ปีรักษาฟรีทั้งหมด ส่วนผู้ที่อายุเกิน 17 ปี ต้องมีการจ่ายค่ารักษาส่วนหนึ่ง คือ ถ้ารักษาไม่เกิน 1,000 โครนเนอร์ รัฐจะจ่าย 50% แต่ถ้าเกิน 1,000 โครนเนอร์ รัฐจ่ายให้ 75% ซึ่งอัตราการคิดเงินนี้รัฐบาลจะกำหนดไว้อย่างชัดเจน แพทย์จะคิดเงินเกินกว่าที่กำหนดไม่ได้ แต่อาจคิดต่ำกว่าได้ เป็นต้น

ซึ่งนอกจากเรื่องการศึกษาและการประกันสุขภาพแล้ว รัฐยังมีการช่วยเหลือเรื่องเงินบำนาญคนชรา คนพิการ แม่หม้าย มีการจ่ายเงินชดเชยการว่างงาน มีบริการแก่ครอบครัว คือ รัฐบาลสวีเดนจะให้บริการฟรีทุกอย่างแก่สตรีที่ตั้งครรภ์ และเมื่อคลอดบุตรออกมาแล้วพ่อแม่จะได้รับเงิน ส่วนบุตรจะได้รับค่าเลี้ยงดูจนถึงอายุ 16 ปีบริบูรณ์ เมื่อบุตรเข้าเรียนก็จะได้รับการเรียน การรักษาพยาบาล การรักษาฟันฟรีจนถึงอายุ 16 ปี ดังที่ได้กว่าไปแล้ว

แต่จากการที่รัฐต้องใช้เงินในการจ่ายค่าสวัสดิการจำนวนมาก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการเก็บภาษีมากตามไปด้วย รัฐบาลสวีเดนจะให้ระบบอัตราภาษีแบบก้าวหน้า คือ ประชาชนคนใดมีรายได้มากก็จะถูกเก็บภาษีมาก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าการให้บริการแบบนี้จะไม่เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากสวีเดนมีการเก็บภาษีเป็นหลัก จึงทำให้จำนวนผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านมีสูงมาก และก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมเกี่ยวกับตัวเด็กตามมากมาย เนื่องจากเด็กจะไม่ได้รับการดูแลจากครอบครัวเท่าที่ควร จึงเท่ากับเป็นการทำลายระบบครอบครัวไปโดยไม่รู้ตัวด้วย แต่หากมองโดยภาพรวมแล้วนั้นสามารถสรุปได้ว่าการดูแลจากรัฐของประเทศสวีเดนนี้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก

บทวิเคราะห์ การนำแนวคิดรัฐสวัสดิการมาใช้ในประเทศไทย
จากแนวคิด ทฤษฎีและกรณีตัวอย่างที่กล่าวอ้างมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าแนวคิดของรัฐสวัสดิการดังกล่าวถึงแม้จะมีข้อดีแต่ก็ยังมีข้อด้อยหรือมีข้อบกพร่องอยู่บ้างในตัวของ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ที่ว่าผู้ปกครองของประเทศที่นำเอาแนวคิดนี้ไปใช้จะสามารถบริหารจัดการในรูปแบบรัฐสวัสดิการได้อย่างดีแค่ไหนและจะสามารถป้องกันแก้ไขบรรเทาปัญหาที่มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ได้อย่างไร เพราะโดยธรรมชาติแล้วทุกอย่างก็ย่อมเปรียบเสมือนกับเหรียญที่มีสองด้าน คือ เมื่อมีด้านหนึ่งที่ดีก็ย่อมมีอีกด้านหนึ่งที่ตรงข้ามอยู่เสมอ ทฤษฎีก็เช่นเดียวกันเมื่อมีด้านที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็ย่อมมีด้านที่เป็นโทษส่งผลให้เกิดปัญหาแก่สังคมเช่นเดียวกัน แต่หากพิจารณาในหลักการโดยรวมนั้นผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าการที่จะนำทฤษฎีและแนวคิดนี้มาปรับใช้กับสังคมไทยนั้น น่าจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าการเกิดโทษและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งหากภาครัฐจะมีการนำเอาแนวคิดของรัฐสวัสดิการมาใช้ เนื่องจากรัฐบาลสามารถที่จะนำแนวคิดของรัฐสวัสดิการนี้มาประยุกต์และปรับใช้ได้ทันที เพราะปัจจุบันรัฐก็มีการจัดเก็บภาษีจากภาคประชาชนอยู่แล้ว อีกทั้งรัฐยังมีกองทุนประกันสังคมและกองทุนต่างๆ อีกมากมาย ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสวัสดิการของพนักงาน ข้าราชการในประเทศ อีกทั้งรัฐบาลต้องทำการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีให้เป็นระบบภาษีแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อให้เกิดความชอบธรรมระหว่างคนรวยกับคนจน แต่ทั้งนี้ก่อนที่รัฐบาลจะมีการนำแนวคิดนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงนั้น รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการอธิบายชี้แจงในส่วนของเนื้อหา เงื่อนไขและวิธีการปฏิบัติให้กับประชาชนทุกระดับได้เข้าใจถึงผลดีผลเสียของการนำนโยบายนี้มาใช้ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสพิจารณาเลือกแนวทางของตนเอง และควรที่จะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศว่าต้องการนโยบายรัฐสวัสดิการนี้หรือไม่และถ้าต้องการ จะต้องการมากน้อยในสัดส่วนเท่าใด ทั้งนี้รัฐต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นและส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน รวมถึงระบุถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากที่มีการนำนโยบายนี้มาใช้จริง เพื่อให้ผู้ที่เห็นด้วยร่วมกันคิดหาทางออกของปัญหา เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาหรืออย่างน้อยก็เป็นการบรรเทาปัญหาให้เบาบางที่สุด เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้การที่จะทำให้แนวคิดดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อประเทศของเราอย่างแท้จริงนั้น รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ในสังคมไทยและในวงราชการออกไปให้หมดอย่างแท้จริง เพราะแนวคิดนี้จะต้องใช้และมีความเกี่ยวข้องงบประมาณจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่การเก็บภาษีที่ต้องมีมากขึ้น จนไปถึงการเบิกจ่ายเงินค่าสวัสดิการต่างๆ ที่ต้องมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงเป็นช่องทางที่จะก่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบได้โดยง่ายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เขียนมีความเห็นว่าหลักการที่รัฐบาลควรนำมาปรับควบคู่ไปการการดำเนินงานตามแนวคิดนี้คือ หลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดความถูกต้องโปร่งใสและสามารถที่จะตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน โดยรัฐบาลจะต้องมีการสร้างสำนึกทางสังคมให้เกิดขึ้นกับข้าราชการและประชาชนทุกคนควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายด้วย รวมทั้งต้องทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงหน้าที่ความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบของตนอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายมากที่สุด

สรุป
ผู้เขียนมีความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งหากจะมีการนำหลักการของรัฐสวัสดิการนี้มาปรับใช้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในการบริหารประเทศ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาของระบบทุนนิยมที่ได้ส่งผลให้เกิดความเลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรงดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าระบบรัฐสวัสดิการนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา http://www.bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=194&c=1&order=numtopic

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมว่าน่าสนใจนะครับเรื่องรัฐสวัสดิการเนี่ย แต่พวกอภิสิทธิ์ชลมันจะยอมกันหรือเปล่า เหมือนกับนายปรีดี พนมยงค์ ก็เคยยเสนอไว้แต่สุดท้ายก็ถูกคัดค้านด้วยกลุ่มอภิสิทธิ์ชลทั้งหลายครับ

    ตอบลบ