วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รัฐสวัสดิการจะดีทำไมต้องภาษีก้าวหน้า?

พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2546 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคณะผู้เขียน 11 ท่านรวมทั้งบรรณาธิการเอง (คืออาจารย์วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน) อธิบายคำ รัฐสวัสดิการ (welfare state) ไว้ว่า

“เป็นแนวคิดที่ประเทศทุนนิยมนำมาใช้ โดยรัฐจัดให้มีการประกันความมั่นคงให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ การประกันดังกล่าวเป็นการให้เปล่าหรือเกือบให้เปล่า เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล การสงเคราะห์มารดาและทารก การสงเคราะห์เด็กกำพร้า คนชราและคนพิการ การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ตกงาน และการฌาปนกิจ เป็นต้น นั่นคือการให้ความมั่นคง ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ (from the cradle to the grave) (เป็นชื่อบทความหนึ่งของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์)

“รัฐสวัสดิการจะมีการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากรัฐ โดยจัดให้มีการกระจายรายได้ด้วยการเก็บภาษีรายได้อัตราก้าวหน้าสูง การดำเนินกิจการผลิตสินค้าและบริการที่สำคัญโดยรัฐ ในด้านการเมืองการปกครองมีพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค และมีการเลือกตั้งทั่วไป ประเทศที่นำแนวคิดรัฐสวัสดิการมาใช้เป็นครั้งแรกได้แก่สหราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลพรรคแรงงาน ระหว่าง ค.ศ.1945-1951 [สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ.1945 - ผู้เขียน] นอกจากนี้มีประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรปตะวันตก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้นำมาใช้มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป พวกอนุรักษ์มักโจมตีรัฐสวัสดิการว่าเป็น ‘รัฐสังคมสงเคราะห์’ เป็นการบั่นทอนแรงจูงใจ ทำลายความคิดริเริ่มของเอกชน ขาดความรับผิดชอบทางการคลัง ส่วนพวกมาร์กซิสต์ที่นิยมการปฏิวัติก็โจมตีรัฐสวัสดิการว่า เป็นการยืดอายุของทุนนิยมที่กำลังร่อแร่ให้พ้นจากวาระสุดท้าย เป็นการถ่วงเวลาในการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ”

[ทำนองเดียวกัน Karl Marx ก็เรียกแนวคิดภาษีเดี่ยวซึ่งเก็บจากที่ดินของ Henry George ว่าเป็น ‘ที่มั่นด่านสุดท้ายหรือการต่อสู้ดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของลัทธินายทุน’ (Capitalism's Last Ditch) ด้วย แต่พวกทุนนิยมจำนวนมากกลับเรียกว่าเป็น ‘สังคมนิยม’ - ผู้เขียน]

เมื่อ 2 มิถุนายน พ.ศ.2549 หนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์มีรายงานพิเศษ โดย นภาพร แจ่มทับทิม เรื่อง 'รัฐสวัสดิการ' ที่แท้จริง สังคมต้องเมตตาต่อผู้คน ได้ให้ข่าวว่าในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2548 มีการเปิดตัวพรรคทางเลือกที่สาม อย่างพรรคมหาชน ภายใต้แนวคิดรัฐสวัสดิการนิยมก้าวหน้า และเมื่อ 25 พ.ค.49 ณ ห้องประชุม 12 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดสัมมนาเรื่อง “รัฐสวัสดิการกับการปฏิรูปการเมืองไทย” โดยมีอาจารย์ นักวิชาการ รวมทั้งนักศึกษาเข้าร่วมสัมมนาเป็นจำนวนมาก (จากเรื่อง นักวิชาการแนะรัฐสวัสดิการคือสิ่งที่รัฐพึงให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ที่ http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=13127 โดยอ้าง บทความประชาธรรม และบทความที่ http://www.parliament.go.th/news/news_detail.php?prid=7709) สรุปเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาษีได้ดังนี้

รศ.สุชาย ตรีรัตน์ ซึ่งกล่าวนำการอภิปรายกล่าวถึงเรื่องภาษีว่าควรจะมีการใช้ครรลองของกฎหมายเกิดขึ้นใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระบบภาษี เพื่อให้เกิดความชอบธรรมระหว่างคนรวยกับคนจน โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีก้าวหน้าคนรวย

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์กล่าวว่า การจัดระบบสวัสดิการต้องคิดบนฐานของความคิดที่มองคนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ทุน เพราะหากเอาทุนเป็นตัวตั้งจะเป็นการขัดขวางกระบวนการสะสมทุน

อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์เห็นว่า รายได้ในการสร้างรัฐสวัสดิการต้องมาจากการเก็บภาษีก้าวหน้า

[พจนานุกรมที่ผมอ้างไว้บรรทัดแรกของบทความนี้ก็บอกว่า “รัฐสวัสดิการจะมีการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากรัฐ โดยจัดให้มีการกระจายรายได้ด้วยการเก็บภาษีรายได้อัตราก้าวหน้าสูง”]

จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว. กทม. คณะอนุกรรมการวุฒิสภา ที่ศึกษาเรื่องหลักประกันทางสังคม ได้กล่าวว่า

"เรายังอยู่ในโลกที่มองการแก้ปัญหาทางสังคมเป็นลักษณะการช่วยคนที่เป็นปัจเจก เป็นรายคนไป มากกว่าเป็นระบบ แล้วเรายังมองว่า รัฐสวัสดิการเหมือนเป็นความเมตตาที่สังคมมีต่อคน มากกว่าเป็นเรื่องหน้าที่ของรัฐที่จะต้องประกันให้ทุกคน ให้การแบ่งปันทรัพยากรของประเทศนั้นมีความยุติธรรม และรัฐมีหน้าที่ดูแลให้ทุกคนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ ผมว่าสิ่งนี้ยังเป็นเรื่องที่คนยังมองไม่เป็นเอกภาพ เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามผลักดัน”

ข้อความที่อาจารย์จอนพูด (ซึ่งผมเห็นว่าเป็นจุดเด่น) คือ “ส่วนรูปแบบของรัฐสวัสดิการ ที่ต้องสร้างกลไกเพื่อให้เกิดการปฏิบัติคือ การประกันการว่างงาน โดยต้องเริ่มที่การปฏิรูปที่ดิน”

สำหรับผมแล้วการปฏิรูปที่ดินเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่สามารถทำได้ดีโดยไม่ต้องปฏิรูปกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือจัดสรรที่ดินให้คนจนให้เป็นภาระเพิ่มขึ้นแก่รัฐและเพิ่มโอกาสคอร์รัปชันแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอเพียงปฏิรูปภาษี โดยค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดินพร้อมกันไปกับการเลิกภาษีอื่นๆ ทดแทนกัน ก็จะเป็นการเพิ่มเสรีภาพและความยุติธรรมให้แก่ราษฎรได้อย่างดี และทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกันโดยเท่าเทียม คือเก็บภาษีที่ดินมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของทุกคน ใครถือครองที่ดินก็จ่ายภาษีที่ดินมากน้อยตามแต่มูลค่าของที่ดินที่ถือครอง

ที่สำคัญ ผมเชื่อว่าระบบภาษีที่ดินที่ใช้พร้อมกับการยกเลิกภาษีอื่นๆ ตามแนวคิดของเฮนรี จอร์จจะกลับบรรเทาภาระด้านสวัสดิการที่รัฐจะต้องแบกรับลงได้มหาศาล เพราะมีคนจำนวนมากถึงกับเรียกแนวคิดของเฮนรี จอร์จว่า Economics of Abundance แทนที่ Economics of Scarcity หรือ Dismal Science แห่งยุคปัจจุบัน อุปสรรคใหญ่ของระบบภาษีที่ดินอยู่ที่ผู้มีอำนาจซึ่งต้องการรักษาประโยชน์รักษาสถานะเจ้าของที่ดินของพวกตนไว้ จุดนี้จะแก้ได้เมื่อภาคประชาชนมีความรู้เรื่องนโยบายภาษีและที่ดินดีพอ

ภาษีเงินได้แบบก้าวหน้าคือการลงโทษคนขยันและมีประสิทธิภาพ เป็นภาษีที่โดนใจพวกขี้อิจฉา ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าใครผลิตสินค้าและบริการเอามาแลกเปลี่ยนซื้อขายกับคนอื่นได้มากเพราะคนที่เขาค้าขายด้วยได้ประโยชน์ (ถ้าเสียประโยชน์เขาก็ไม่ค้าขายด้วย) อย่าใช้วิธีตีคลุมเหมาเอาว่าผู้ค้าได้กำไรมากเพราะการใช้เล่ห์เหลี่ยมทุจริตไปเสียทุกคน มีภาษิตอยู่ว่าปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว การแลกเปลี่ยนค้าขายเป็นการร่วมมือแบบแบ่งงานกันทำก่อให้เกิดการแยกกันเก่งเฉพาะด้าน มีผู้ชำนาญการในสาขาต่างๆ มากมาย เกิดความอยู่ดีกินดีและอารยธรรมความเจริญแก่ส่วนรวมด้วย รัฐบาลเองต่างหากต้องตามให้ทันในการแสวงประโยชน์ของผู้ค้าส่วนที่ไม่สุจริต

ภาษีเงินได้จากการทำงานและการลงทุนยิ่งมีอัตราสูงยิ่งทำลายความร่วมมือแบบแบ่งงานกันทำ (คือทำลายความเจริญ) และไม่ยุติธรรมเพราะเป็นการเอาจากปัจเจกชนไปให้แก่ผู้อื่น

ภาษีเงินได้เป็นหลักคิดที่ตรงข้ามกับภาษีที่ดิน เพราะที่ดินไม่ได้เกิดจากการลงแรงลงทุนผลิต และมูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุนต่างหาก ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม (ไม่ใช่เอาที่ดินมาแบ่งกันเพราะที่ดินมีมูลค่าแตกต่างกันตามตำบลที่และจะต้องแบ่งกันไม่รู้จบเพราะคนในครอบครัวมีตายมีเกิดทำให้จำนวนเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ) แต่เมื่อเราเคยชินมานานกับระบบปัจจุบัน ก็ต้องมีผ่อนสั้นผ่อนยาว ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง คือค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดิน ขณะเดียวกันก็เลิก/ลดภาษีอื่นๆ ทดแทนกัน

ก็ต้องกล่าวซ้ำถึงผลดีของการเพิ่มภาษีที่ดินและลด/เลิกภาษีอื่นๆ (เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ไปลงที่ผู้ใช้แรงงานและผู้ลงทุน) ดังนี้

1) เกิดความยุติธรรมขั้นฐานราก รัฐบาลไม่ต้องผิดศีลข้ออทินนาทานเอาจากคนหนึ่งไปให้แก่อีกคนหนึ่ง เพราะประโยชน์หรือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากเจ้าของที่ดิน แต่เกิดจากธรรมชาติและกิจกรรมของส่วนรวม

2) การเลิก/ลดภาษีเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก ซึ่งดีกว่าแบบของสหรัฐฯ ที่ทำมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ทำได้เพียงชั่วคราว มิฉะนั้นรัฐบาลจะเป็นหนี้มหาศาล เพราะไม่ได้เก็บค่าเช่าที่ดินมาชดเชย (ซึ่งการที่รัฐเก็บค่าเช่าที่ดินก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกแรงหนึ่ง)

3) ราคา/ค่าเช่าที่ดินจะลด เพราะที่ดินจะไม่ถูกเก็งกำไรเก็บกักปิดกั้นไว้ แต่จะเปิดออกเพื่อหาประโยชน์ให้คุ้มกับการเสียค่าเช่าให้รัฐ รวมทั้งให้เช่า หรือทำประโยชน์เอง หรือมิฉะนั้นก็ขายให้แก่ผู้ที่เห็นทางทำประโยชน์ การทำประโยชน์ก็มักต้องหาคนมาทำงานให้ เจ้าของที่ดินต่างคนต่างต้องทำอย่างนี้ ก็เกิดแข่งขันกันเอง การว่างงานจะลด ค่าแรงจะเพิ่ม ผลตอบแทนต่อการใช้ทุนก็เพิ่ม

4) ซ้ำแรงงานและทุนไม่ต้องเสียภาษีทางตรงจำพวกภาษีเงินได้ หรือเสียน้อย จึงมีรายได้สุทธิเพิ่ม

5) สินค้าจะมีราคาถูก เพราะการลดภาษีทางอ้อมจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรสรรพสามิต และอากรขาเข้า ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศจะสูงขึ้นด้วย และต่างชาติจะนิยมมาลงทุนและเที่ยวรวมทั้งซื้อสินค้าในไทย แบบฮ่องกง สิงคโปร์

6) เกิดความคล่องตัวในการย้ายถิ่นฐาน เพราะทั้งที่ดินและบ้านจะมีราคา/ค่าเช่าถูกลง และหาได้ง่ายขึ้น ที่ดินในเมืองจะได้รับการใช้ประโยชน์มากขึ้น มีบ้าน แฟลต คอนโดให้เช่ามากขึ้น ค่าเช่าต่ำลง ปัญหาการเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองที่ติดขัดอัดแอเสียเวลามากจะบรรเทาลง ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมหรือชุมชนแออัดในเมืองจะบรรเทาลงเช่นเดียวกัน

7) กรณีพิพาทขัดแย้งแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจะลดลงมากโดยอัตโนมัติ (ถ้ารัฐเก็บค่าเช่าที่ดินเท่าค่าเช่าศักย์ ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือเกือบศูนย์ คนเราจะเลือกซื้อหาที่ดินได้ง่าย แม้ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ เอาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ได้ แต่การซื้อขายที่ดินเองก็ราคาต่ำจนไม่น่าต้องกู้ยืมแล้ว และก็จะทำให้คนเรากู้หนี้เพื่อลงทุนอย่างอื่นเกินตัวไม่ได้ ถูกหลักเศรษฐกิจพอเพียง)

ท้ายสุด Utopia หรือสังคมอุดมคติของผมคือ สังคมที่เป็นธรรม คนส่วนใหญ่เป็นสุข หางานทำง่าย ค่าแรงกายแรงสมองสูงโดยไม่ต้องมีกฎค่าจ้างขั้นต่ำ มนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกันในสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ รับรู้สิทธิเท่าเทียมกันของผู้อื่น มีการชดเชยการดูดทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลืองไป มีการจ่ายค่าถ่ายเทของเสียออกสู่โลกทั้งในดิน น้ำ และอากาศตามควร ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ และเกิดระบบกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพสูง อันจะทำให้โลกเป็นที่อยู่ที่ทำกินได้ยั่งยืนต่อไป

(ขอเชิญดูเรื่องเกี่ยวข้องได้ที่ http://www.geocities.com/utopiathai ครับ)


ที่มา http://www.bbznet.com/scripts2/view.php?user=tangnamo&board=1&id=109&c=1&order=numtopic

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น